แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยจำเลยยอมชำระค่าหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์แก่โจทก์ไปแล้ว ส่วนค่าหุ้น อีก 70 เปอร์เซ็นต์โจทก์ผู้เป็นตัวแทนจำต้องออก เงินทดรองจ่ายไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกเอาจากจำเลยผู้ เป็นตัวการได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 807,816 และกรณีนี้เป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึง ต้องใช้อายุความ10 ปี ตามมาตรา 164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์คือ หุ้นของบริษัทต่าง ๆในตลาดหลักทรัพย์แทนลูกค้า การซื้อหลักทรัพย์ลูกค้าต้องชำระเงินอย่างน้อยร้อยละ 30 ของราคาหลักทรัพย์ที่สั่งซื้อพร้อมทั้งค่าบำเหน็จ กับต้องชำระเงินค่าซื้อส่วนที่ค้างอยู่ภายใน 4 วัน นับแต่วันที่โจทก์ซื้อหลักทรัพย์ ถ้าผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 – 18 ต่อปี นับแต่วันที่ซื้อหลักทรัพย์ได้โดยโจทก์จะแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นคราว ๆ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ จำเลยได้มอบหมายให้โจทก์ซื้อหุ้นบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด 300 หุ้น หุ้นละ 1,338บาท เป็นเงิน 401,400 บาท จำเลยได้ชำระเงินร้อยละ 30 ของราคาหุ้นที่สั่งซื้อคิดเป็นเงิน 120,420 บาท พร้อมค่าบริการแก่โจทก์แล้ว คงค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่อีก 280,980 บาท จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2523เป็นเงิน 60,389.72 บาท รวมกับเงินต้นเป็นจำนวน 334,169.72 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์กับดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะกรรมการบริษัทโจทก์มิได้ประชุมลงมติให้ฟ้องคดีนี้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่เคยซื้อหุ้นของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด ให้จำเลย แต่โจทก์ซื้อในนามของโจทก์เอง และได้ขายไปแล้วโดยทุจริต โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในเรื่องการซื้อขายส่งมอบและรับโอนหุ้นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดกรรมสิทธิ์ในใบหุ้นยังไม่ตกเป็นของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าหุ้นแก่โจทก์ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะไม่ฟ้องภายใน 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 และจำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ต้องคืนเงินแก่จำเลยรวม 158,427 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์คืนเงิน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 226,780 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าซื้อหุ้นที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนจำเลยไป (เท่าที่ค้างชำระอยู่) 273,780 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2523 เป็นเงิน 60,389.72 บาทรวมเป็นเงิน 334,169.72 บาทแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี
จำเลยฎีกา
วินิจฉัยว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและเอกสารแสดงการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์โดยครบถ้วนตามขั้นตอนมานำสืบประกอบกันฟังได้ว่า การซื้อขายหุ้นที่โจทก์จำเลยถือปฏิบัติต่อกันนี้ เป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์เป็นสมาชิก และได้กระทำแทนจำเลยตามคำสั่งของจำเลยผู้สมัครเป็นลูกค้าของโจทก์ การซื้อขายหุ้นก็มีระเบียบวิธีปฏิบัติพิเศษต่างหากจากการซื้อขายหุ้นธรรมดากล่าวคือเป็นการซื้อขายหุ้นโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งหวังผลกำไรจากราคาหุ้นที่สูงขึ้นตามที่ลูกค้าคาดหมาย การปฏิบัติตามคำสั่งของลูกค้าจึงต้องเป็นไปโดยรวดเร็วเพื่อให้ทันกับความเคลื่อนไหวของราคาในตลาดหุ้น โดยลูกค้าหาได้สนใจหรือมีเจตนาที่จะให้ใส่ชื่อของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นที่สั่งซื้อเป็นการเด็ดขาดถาวรไม่ เพราะถ้าราคาหุ้นที่ซื้อสูงขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้นนับแต่วันสังซื้อ ลูกค้าผู้สั่งก็จะได้กำไรโดยลงทุนแต่น้อยเพียง 30% ของราคาหุ้น แต่ถ้าราคาหุ้นตกต่ำ และลูกค้ายังไม่ชำระราคาหุ้นที่เหลือ 70% เพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นตามที่กำหนดไว้ ลูกค้าก็ต้องรับผิดใช้ราคาหุ้นที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน ซึ่งจำเลยก็ทราบดีและยอมรับผลการปฏิบัติต่อกันต่อโจทก์ดังที่ปรากฏว่าเคยมีการซื้อขายหุ้นรายอื่นโดยราบรื่นตลอดมา กรณีเพิ่งจะเกิดการโต้แย้งเกี่ยวกับหุ้นรายพิพาทซึ่งจำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อและยอมชำระค่าหุ้น 30% แก่โจทก์ไปแล้ว ดังนั้นค่าหุ้นอีก 70% ที่โจทก์ผู้เป็นตัวแทนจำต้องออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ก็ชอบที่จะเรียกเอาจากจำเลยผู้เป็นตัวการได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 807, 816 โจทก์หาใช่เป็นเพียงนายหน้าดังที่จำเลยเข้าใจไม่ และที่จำเลยอ้างว่าหุ้นเหล่านั้นยังมิได้ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ ก็น่าเชื่อว่าเป็นความประสงค์ของจำเลยแต่แรก จำเลยเพิ่งจะปฏิเสธความรับผิดในชั้นนี้โดยอ้างเหตุดังกล่าวหาชอบไม่ ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าถ้าจำเลยชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้วโจทก์จะไม่ยอมโอนหุ้นใส่ชื่อจำเลยแต่อย่างใด รูปกรณีส่อว่าราคาหุ้นอาจตกต่ำลงจำเลยจึงไม่ยอมชำระค่าหุ้นที่เหลือเพื่อรับโอนหุ้นโดยปล่อยให้โจทก์รับเคราะห์ต่อไปก็ได้
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ฟ้องภายใน 2 ปีคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน