คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3410/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างทราบคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนแล้วมิได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่ออธิบดีกรมแรงงานภายในกำหนด นายจ้างหามีสิทธิดำเนินการในศาลแรงงานไม่ และการดำเนินการไม่ได้นี้รวมถึงเมื่อลูกจ้างฟ้องขอให้ศาลบังคับนายจ้างจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน นายจ้างก็ไม่มีสิทธิต่อสู้คดีได้ด้วย เพราะต้องถือว่าคำวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทนนั้นเป็นที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น จำเลยที่ ๒เป็นผู้รับเหมาช่วง จำเลยที่ ๒ จ้างบุตรของโจทก์และจ้างโจทก์อื่นเป็นลูกจ้าง แล้วโจทก์และลูกจ้างซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายและถึงแก่ความตาย พนักงานเงินทดแทนสอบสวนแล้วเห็นว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วง โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล และค่าทำศพแก่โจทก์ พนักงานเงินทดแทนแจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสองทราบแล้วจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมแรงงาน คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนจึงเป็นที่สุด แต่จำเลยทั้งสองมิได้จ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนจึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น มิใช่นายจ้างของบุตรโจทก์และโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนตามที่โจทก์ฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิใช่ผู้รับเหมาช่วงแต่เป็นผู้รับเหมางานตามฟ้อง ได้ว่าจ้างบุตรโจทก์และโจทก์ด้วยตนเอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทน
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในกรณีเรียกร้องเงินทดแทนนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๖๐ ได้กำหนดสิทธิของนายจ้างและผู้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนในการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทน คำสั่งของอธิบดีกรมแรงงาน และการนำคดีมาสู่ศาลว่า
“ในกรณีที่นายจ้างหรือผู้ยื่นคำเรียกร้องเงินทดแทนไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน ให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่ออธิบดีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
เมื่ออธิบดีพิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งแล้ว ให้แจ้งคำสั่งนั้นเป็นหนังสือให้นายจ้างและผู้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนทราบ ถ้าเห็นชอบพร้อมกันให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ถ้าไม่เห็นชอบให้นำคดีไปสู่ศาลได้แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คำสั่งของอธิบดีเป็นที่สุด”
คดีได้ความเป็นยุติว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ทราบคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนแล้ว จำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนต่ออธิบดีกรมแรงงานตามขั้นตอนและวิธีการในประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ ๖๐ ดังนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคสอง จำเลยที่ ๑ หามีสิทธิดำเนินการในศาลแรงงานไม่ ผลแห่งการที่จำเลยที่ ๑ ดำเนินการในศาลแรงงานไม่ได้ ย่อมหมายความรวมไปถึงข้อที่ว่า เมื่อผู้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ ๑ จ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนจำเลยที่ ๑ ย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีโต้แย้งในชั้นศาลอีกว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นต้องถือว่าคำวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทนที่ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นเป็นที่สุด
พิพากษายืน

Share