คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46,(ฉบับที่ 2) ข้อ 1 อันเป็นประกาศที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ออกจากงาน ไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษแก่กรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องออกจากงานเพราะเหตุขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามด้วย การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุนี้ย่อมต้องถือว่าเป็นการออกเพราะการเลิกจ้างด้วย
การที่โจทก์เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมาตรา 9(2) เพราะมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์แล้วและต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น เห็นได้ว่าพระราชบัญญัตินี้มิได้ยกเว้นว่าการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ถือว่าเป็นการออกจากงานเพราะการเลิกจ้าง และการที่มีการกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในรูปของพระราชบัญญัติก็เพราะรัฐต้องการให้รัฐวิสาหกิจทั้งหลายใช้ข้อบังคับในเรื่องนี้ให้เป็นระเบียบเดียวกัน และมุ่งหมายจะให้เป็นข้อบังคับที่มั่นคงถาวรไม่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายมิใช่จะถือว่ามีผลยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไปในตัวนอกจากนี้แม้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะใช้คำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” ผลก็เท่ากับให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างจัดการให้ลูกจ้างออกจากงานอันต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างอยู่นั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยเป็นรัฐวิสาหกิจ มีจำเลยที่ 2เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นพนักงานกำหนดระยะเวลาจ้างไม่มี เมื่อใกล้ครบกำหนดเกษียณอายุจำเลยที่ 1 ต่ออายุการทำงานของโจทก์ออกไปอีกครั้งละ 1 ปี รวม 5 ครั้ง ต่อมามีพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจยกเลิกพระราชบัญญัติกำหนดเกษียณอายุผู้ทำงานในองค์การของรัฐฯ และมาตรา 9(2) บัญญัติว่า พนักงานของรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์มาตรา 11(3) บัญญัติว่า พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2518 โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จไปแล้วแต่โดยที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2)ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด โจทก์เห็นว่าเงินบำเหน็จที่โจทก์รับไปแล้วนั้นเป็นสิทธิที่โจทก์พึงได้รับตามข้อบังคับของนายจ้าง ต่างหากจากเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอให้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์41,250 บาท (เงินเดือนเดือนสุดท้าย 6 เดือน) จำเลยที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาวันที่ 29พฤศจิกายน 2520 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า กระทรวงการคลังเห็นว่าเมื่อโจทก์ได้รับเงินบำเหน็จไปแล้วก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้อีก โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องโจทก์จึงมีหนังสือร้องทุกข์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมแรงงานได้มีหนังสือลงวันที่ 27 มิถุนายน 2521 ถึงโจทก์แจ้งให้ทราบว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบตามความเห็นของกรมแรงงานว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 9สิงหาคม 2521 ถึงโจทก์แจ้งขัดข้องในการจ่ายค่าชดเชยอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของกระทรวงการคลัง โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำเตือนที่ 157/2521 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2521 ให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าชดเชย 41,250 บาท ไปจ่ายให้โจทก์ ณ กรมแรงงานภายใน 10 วัน จำเลยทั้งสามกลับขอผัดผ่อนเพื่อเสนอเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรีชี้ขาด คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2522 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยผิดขั้นตอนและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ดี กระทรวงการคลังก็ดี หรือมติคณะรัฐมนตรี เป็นความเห็นของคณะบุคคลไม่ใช่กฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าชดเชย 41,250 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2518 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้ถูกให้จำเลยทั้งสามสั่งให้ออกจากงานโดยตรง แต่เป็นกรณีพ้นจากตำแหน่งโดยโจทก์เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวด้วย ที่โจทก์ถูกออกจากตำแหน่งหน้าที่การงานจึงมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ประสงค์จะจ้างโจทก์ทำงานต่อไปแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย การที่โจทก์ถูกออกจากงานตามกฎหมายดังกล่าวนั้น โจทก์ก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญเป็นจำนวนสูงอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานอีก การจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จะเป็นการขัดต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและของกระทรวงการคลังจึงไม่อาจจ่ายให้ ที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำเตือนฯ ก็เพราะคณะรัฐมนตรีลงมติฯ ว่าเฉพาะกรณีของโจทก์ได้ออกก่อนคณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายค่าชดเชยจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยฯ จำเลยขอตัดฟ้องว่าจำเลยที่ 2, 3กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว หรือร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง จำเลยไม่ได้บอกเลิกจ้างโจทก์หากแต่ต้องทำตามที่กฎหมายบังคับ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นพ้องกับศาลแรงงานกลางที่กล่าวว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเช่นเดียวกับลูกจ้างในกิจการเอกชนทั่ว ๆ ไป แต่เห็นว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจเช่นโจทก์นี้ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ปัญหาเรื่องค่าชดเชยก็ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 46 และ 47 ข้อ 46 ตามที่แก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ข้อ 1 อันเป็นประกาศฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ออกจากงานนั้น วรรคสองและวรรคสามมีความว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างประจำทำงานเกินเจ็ดวัน ทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ ถ้าปรากฏว่านายจ้างมีเจตนาจะไม่จ้างลูกจ้างนั้นทำงานต่อไป หรือกลั่นแกล้งลูกจ้าง ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างด้วย

ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น หรือลูกจ้างประจำที่นายจ้างแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือแต่แรกว่าให้ทดลองปฏิบัติงานในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันและยังอยู่ในระยะเวลานั้น” ดังนี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษแก่กรณีที่พนักงานของรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องออกจากงานเพราะเหตุขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามด้วย การที่พนักงานของรัฐวิสาหกิจใดรัฐวิสาหกิจหนึ่งต้องออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ก็ดีเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ก็ดี ย่อมต้องถือว่าเป็นการออกเพราะการเลิกจ้างตามข้อ 46 ของประกาศที่กล่าวข้างต้นนั้น การที่โจทก์เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) เพราะมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์แล้ว และต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 นั้น จะเห็นได้ว่า ประการแรกพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ก็มิได้บัญญัติยกเว้นไว้เป็นพิเศษว่า ไม่ให้ถือว่าการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นการออกจากงานเพราะการเลิกจ้าง ประการที่สอง การที่มีการกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในรูปของพระราชบัญญัติ ก็เพราะรัฐต้องการให้รัฐวิสาหกิจทั้งหลายใช้ข้อบังคับเกี่ยวแก่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในขั้นมาตรฐานให้เป็นระเบียบเดียวกัน และมุ่งหมายจะให้เป็นข้อบังคับที่มั่นคงถาวรไม่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย มิใช่ว่าเมื่อตราไว้ในรูปของกฎหมายแล้วก็จะถือว่ามีผลเป็นการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไปได้ในตัวโดยไม่ต้องมีบทบัญญัติยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง ประการสุดท้าย แม้พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518จะใช้คำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” แก่พนักงานเช่นโจทก์ คดีนี้ผลก็คงเท่ากับการให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างจัดการให้ลูกจ้างออกจากงาน อันต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างอยู่นั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่าแม้แต่กรณีของโจทก์คดีนี้ จำเลยที่ 1 ก็ได้มีคำสั่งให้โจทก์กับบุคคลอื่นอีก 2 คน ออกจากตำแหน่ง ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46(3) ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฯ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ข้อ 1 ซึ่งเป็นประกาศฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาที่โจทก์พ้นจากตำแหน่ง ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ใช่นายจ้างที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการจ่ายค่าชดเชยด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นจำนวน41,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจากเงินต้นดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับจำเลยที่ 2และที่ 3 คงให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share