แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการยอมผ่อนปรนแก่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวแทน โดยให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะจัดการเรื่องหนี้สินให้เรียบร้อยนั้น จะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์หาได้ไม่ และตามข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่1 ต้องกระทำการต่าง ๆ ก็หาได้ระบุไว้ในสัญญาว่าจะต้องกระทำ ณ เวลาใดอันเป็นกำหนดแน่นอนไม่ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าว และยังกระทำผิดสัญญาในเรื่องการให้กู้ยืมกับให้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์ก็ยังไม่เลิกสัญญาทันทีนั้น ก็ไม่เป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จำนองเป็นประกันการที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์สำหรับความเสียหายทั้งปวง จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
อายุความสำหรับธนาคารที่จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยทบต้นตามบัญชีเดินสะพัดจากลูกหนี้ของธนาคาร กับอายุความสำหรับโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 นั้นเป็นคนละเรื่องกัน ธนาคารโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้รายใดได้จนถึงวันใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของธนาคารเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะเงินต้นและดอกเบี้ยสูญโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายและเรียกร้องเอาแก่ผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 ได้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาจัดตั้งธนาคารสาขาอันเป็นสัญญาตั้งตัวแทน มีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีโจทก์ส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่ขาดอายุความในส่วนที่ฟ้องผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 ด้วย
เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้ว การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือนั้นแล้ว หากคู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดเดินอยู่ต่อไป ก็ยังไม่ถือว่ามีการผิดนัดกรณีย่อมไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสองในระหว่างนั้นโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากลูกหนี้ผู้เบิกเงินเกินบัญชีได้ตามมาตรา 655 วรรคสอง(อ้างฎีกา658-659/2511 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)
ท้ายฟ้องมีเอกสารหมายเลข 4 ซึ่งเป็นบัญชีลูกหนี้ที่จำเลยที่ 1 ให้กู้ยืมและเบิกเงินเกินบัญชีแล้วเรียกเก็บไม่ได้ซึ่งแสดงรายละเอียดว่า ลูกหนี้ชื่อใด บัญชีที่เท่าใดยอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ตลอดทั้งเหตุที่เรียกเก็บไม่ได้ เป็นเพราะไม่มีสัญญาหรือว่าไม่มีทั้งสัญญาและหลักประกันด้วยดังนี้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมส่วนข้อที่ว่า หนี้แต่ละรายเหล่านั้นเป็นเงินต้นเท่าใด คิดดอกเบี้ยอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้
การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญาจัดตั้งธนาคารสาขานั้นเป็นการให้สัญญาแก่โจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้วไม่ชำระหนี้ค่าเสียหายนั้นก็ให้โจทก์บังคับจำนองได้ ซึ่งต่างกับการค้ำประกันและมิได้มีบทบัญญัติใดในลักษณะจำนองที่ให้นำมาตรา689 ในลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย (อ้างฎีกา 1187/2517)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์เพื่อจัดตั้งธนาคารสาขาเป็นตัวแทนของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาหลายประการโดยก่อหนี้ขึ้นแล้วปล่อยให้บริษัทร้างจนถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้จำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์สำหรับความเสียหายทั้งปวง ตามสัญญาการจัดตั้งธนาคารสาขาดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 คืนเข้าสู่ทะเบียนแล้วให้จำเลยร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยถ้าไม่ชำระให้บังคับจำนองเอาจากทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำนองไว้ ฯลฯ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ผู้จัดการจำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาและไม่ต้องรับผิดสำหรับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวและฟ้องแย้งทำนองเดียวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การและฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่า ได้จำนองที่ดินเป็นประกันตามสัญญา แต่โจทก์จะฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2ด้วยไม่ได้ โจทก์ยอมให้ผู้อื่นดำเนินการธนาคารสาขา เงินทุนที่จำเลยที่ 1จะต้องมีให้ธนาคารสาขา โจทก์ยอมผ่อนผันให้ และโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1ไม่จัดเงินทุนหมุนเวียนและเงินฝากประจำแก่ธนาคารโจทก์ตามสัญญา นับว่าเป็นความผิดของโจทก์เองคดีโจทก์ขาดอยุความแล้วและเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในธนาคารโจทก์ ถ้าคิดบัญชีกันแล้วโจทก์กลับจะต้องใช้เงินให้จำเลย โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 หลุดพ้นความรับผิดขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งให้ตั้งผู้ตรวจสอบสมุดบัญชีและเอกสาร เพื่อแสดงว่าใครเป็นหนี้ใครอยู่เท่าใด
ศาลชั้นต้นสั่งรับแต่คำให้การจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ไม่รับฟ้องแย้งจำเลยทั้งสามอุทธรณ์และฎีกา ศาลพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้นายทะเบียนฯ จดชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ทะเบียนใหม่ ให้มีฐานะเสมือนหนึ่งมิได้มีการขีดชื่อออกและให้ดำเนินการต่อไปถ้าไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ตามมาตรา 1237แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ให้เลิกบริษัทเสีย และตั้งผู้ชำระบัญชีตามกฎหมาย และให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระเงินแก่โจทก์คนละส่วนพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้บังคับจำนองจำเลยที่ 3 ถ้าไม่พอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 3 จนครบ และหากได้มีการไถ่จำนองแล้ว ก็ให้โจทก์บังคับเอาแก่เงินของจำเลยที่ 3 ที่ฝากไว้แก่ธนาคารโจทก์ได้และให้บังคับเอาแก่เงินที่จำเลยที่ 4 ไถ่จำนองไปแล้วที่นำไปฝากอยู่กับธนาคารโจทก์หนี้ที่เหลือให้บังคับจำนอง ถ้าไม่พอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์อื่นจนครบ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการยอมผ่อนปรนแก่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวแทน โดยให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะจัดการเรื่องหนี้สินให้เรียบร้อยนั้นจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์อาจจะมองการณ์ไกลว่าการพยายามรักษาความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 กับพวกไว้จะเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจของโจทก์ในระยะยาวก็เป็นได้และตามสัญญาหมาย จ.3ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกระทำการต่าง ๆ เช่น ต้องมีทุนหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทในจำนวน 5 ล้านบาทนี้จะต้องนำมาฝากประจำไว้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต้องนำที่ดินรวม 8 โฉนดดังที่ระบุไว้มาจำนองเป็นประกันความเสียหาย ต้องซื้อหุ้นของธนาคารโจทก์เป็นเงิน 5 แสนบาท เหล่านี้หาได้ระบุไว้ในสัญญาว่าจะต้องกระทำ ณ เวลาใดอันเป็นกำหนดแน่นอนไม่ อีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าว และยังกระทำผิดสัญญาในเรื่องการให้กู้ยืมกับให้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์ก็ยังไม่เลิกสัญญาทันทีนั้น ก็ไม่เป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จำนองจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
อายุความสำหรับธนาคารที่จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยทบต้นตามบัญชีเดินสะพัดจากลูกหนี้ของธนาคาร กับอายุความสำหรับโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4ในฐานะที่เป็นผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 นั้นเป็นคนละเรื่องกัน ธนาคารโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้รายใดได้จนถึงวันใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของธนาคารเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะเงินต้นและดอกเบี้ยสูญ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายและเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ในฐานะที่เป็นผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาจัดตั้งธนาคารสาขาอันเป็นสัญญาตั้งตัวแทนมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2507 ซึ่งโจทก์มีหนังสือเลิกสัญญาและเข้าดำเนินกิจการธนาคารสาขาเองจนถึงวันฟ้องคดียังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่ขาดอายุความในส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ให้รับผิดในฐานะผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 ด้วย
ตามปกติการผิดนัดย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญา แต่กรณีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัด เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้วการชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือนั้นแล้ว ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา คู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดเดินอยู่ต่อไป ก็ต้องถือว่าคู่สัญญายังไม่ถือว่ามีการผิดนัดจนกว่าจะได้มีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือแล้ว เมื่อยังไม่มีการผิดนัดกรณีก็ย่อมไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด” ในระหว่างนั้นโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากลูกหนี้ผู้เบิกเงินเกินบัญชีได้ตามมาตรา 655 วรรคสอง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 658-659/2511 ระหว่างนายเดือน บุนนาค โจทก์ นายถวิล ยมกกุล กับพวกจำเลย ฯลฯ ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)
ท้ายฟ้องมีเอกสารหมายเลข 4 ซึ่งเป็นบัญชีลูกหนี้ที่จำเลยที่ 1 ให้กู้ยืมและเบิกเงินเกินบัญชีแล้วเรียกเก็บไม่ได้ ซึ่งแสดงรายละเอียดว่า ลูกหนี้ชื่อใดบัญชีที่เท่าใด ยอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ตลอดทั้งเหตุที่เรียกเก็บไม่ได้เป็นเพราะไม่มีสัญญาหรือว่าไม่มีทั้งสัญญาและหลักประกันด้วย ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วส่วนข้อที่ว่าหนี้แต่ละรายเหล่านั้นเป็นเงินต้นเท่าใด คิดดอกเบี้ยอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำนองที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญาจัดตั้งธนาคารสาขาสำเพ็งนั้น เป็นการให้สัญญาแก่โจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1กระทำผิดสัญญาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้วไม่ชำระหนี้ค่าเสียหายนั้น ก็ให้โจทก์บังคับจำนองได้ซึ่งต่างกับการค้ำประกัน และมิได้มีบทบัญญัติใดในลักษณะจำนองที่ให้นำมาตรา 689 ในลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1187/2517 ระหว่าง ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดกับพวก โจทก์ นางสำเภา รักษ์เจริญ กับพวก จำเลย)
พิพากษายืน