แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ล. ซึ่งได้รับสิทธิเข้าทำการก่อสร้างอาคารในที่ดินของกระทรวงการคลังและมีสิทธิให้เช่าช่วงได้ ทำสัญญาให้โจทก์เข้าก่อสร้างและได้รับผลประโยชน์แทน จำเลยบุกรุกเข้าไปอยู่ในอาคารรายพิพาทที่โจทก์มีสิทธิจากการก่อสร้างโจทก์ดำเนินคดีหาว่าจำเลยบุกรุก แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันโดยจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์บางส่วนก่อน และจะชำระให้อีกจำนวนหนึ่งภายในกำหนดสามเดือนหากถึงกำหนดไม่ชำระให้ถือว่าตกลงเลิกสัญญา ให้โจทก์คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยให้แก่จำเลยในวันที่จำเลยออกไปจากอาคาร และหากจำเลยไม่ยอมออกไปต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์วันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะได้ออกไป ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวแล้วถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีผลบังคับตามกฎหมาย
แม้ต่อมาจะปรากฏว่ากระทรวงการคลังบอกริบเอาอาคารรายพิพาท เป็นของกระทรวงการคลัง ล. หรือโจทก์หมดสิทธิที่จะถือเอาประโยชน์จากอาคารนั้นไปแล้วหรือไม่ก็ตามก็ไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งสมบูรณ์อยู่ก่อนแล้วนั้นต้องเสียไป เพราะเป็นเรื่องผูกมัดระหว่างโจทก์จำเลยเท่านั้น การที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว หาใช่เป็นการพ้นวิสัยไม่
สัญญาระหว่าง ล. กับโจทก์ ที่ ล. ให้โจทก์เข้าก่อสร้างแทนแล้วให้ได้ผลประโยชน์ในการทำแทนนั้น โดยแท้จะมีผลอย่างใดก็ตามแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำการก่อสร้างให้กับ ล. แทนที่ ล. จะต้องทำเอง และ ล. ทำสัญญายกประโยชน์ที่จะได้จากการก่อสร้างนั้นให้โจทก์ เมื่อโจทก์ได้ทำและครอบครองอยู่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการทำแทนหรือเพื่อจะส่งมอบแก่ ล.ซึ่งโจทก์จะใช้อ้างบังคับให้ ล. มอบประโยชน์จากการที่ทำเสร็จนั้นให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่จำเลยได้แย่งเข้าอยู่ในอาคารที่ก่อสร้างโดยพลการเป็นการขัดขวางเรื่องการส่งมอบนั้นเสีย ย่อมเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน (ระงับข้อพิพาท)ย่อมมีผลบังคับได้ จะยกเอาสัญญาภายในระหว่าง ล. กับโจทก์มาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ที่ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นมิได้
จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์เพราะกลัวโทษทัณฑ์จากคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องหาว่าบุกรุกนั้นความกลัวเช่นว่านี้ไม่ทำให้สัญญาที่ทำไว้ตกเป็นโมฆียะหรือเสียไป เพราะโจทก์ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อโรงศาลยุติธรรมโดยสุจริตอย่างตรงไปตรงมา
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยกำหนดไว้ว่า หากจำเลยไม่ออกไปจากอาคารรายพิพาทต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์วันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะออกไป ค่าเสียหายนี้พอนับเนื่องได้ว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้เมื่อเห็นสมควร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้นายเลื่อนเป้าเป็นผู้ทำการก่อสร้างในที่ดินของกระทรวงการคลัง และให้เช่าช่วงได้ ๒๐ ปี นายเลี่ยนเป้าได้รับความยินยอมให้รับโจทก์เข้าปลูกสร้าง โจทก์จึงมีสิทธิทำการก่อสร้างและให้เช่าช่วง จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในตึกเลขที่ ๒๘๖/๓๑ ซึ่งเป็นอาคารก่อสร้างรายนี้โดยไม่มีอำนาจ โจทก์แจ้งความดำเนินคดี ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันแล้วแถลงต่อศาลแขวงอุดรธานีว่า จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์แล้ว ๘๐,๐๐๐บาท อีก ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยจะชำระให้โจทก์ภายในสามเดือน ถึงกำหนดถ้าจำเลยไม่ชำระ ให้ถือว่าเลิกข้อตกลงนี้ โจทก์ยินดีคืนเงิน ๘๐,๐๐๐ บาทให้จำเลยในวันที่จำเลยออกไปจากตึกที่อยู่ หากจำเลยไม่ยอมออกต้องใช้ค่าเสียหายวันละ ๑๐๐ บาท ครั้นถึงกำหนด โจทก์แจ้งให้จำเลยออกและมารับเงิน จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่ และส่งมอบตึกแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ ๑๐๐ บาทตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๗ จนกว่าจะออกไป
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยหลงผิดว่าห้องพิพาทเป็นของโจทก์ประกอบกับกลัวความผิดอาญา จึงตกลงกับโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีสิทธิและอำนาจใด ๆห้องพิพาทตกเป็นของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังอนุญาตให้จำเลยเช่าแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ห้องพิพาทหลุดตกเป็นสิทธิของกระทรวงการคลังและจำเลยเช่าจากกระทรวงการคลัง การที่จะขับไล่จำเลยกลายเป็นพ้นวิสัยพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๕๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๖มิถุนายน ๒๕๐๗ ถึง ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๙ คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับค่าเสียหายด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สารสำคัญอันหนึ่งของคำฟ้องในเรื่องนี้ก็คือโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่กล่าวไว้ในคำฟ้องนั้น โดยว่าจำเลยได้ตกลงยอมความไว้เมื่อคราวโจทก์หาว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปอยู่ในอาคารที่โจทก์มีสิทธิและผลประโยชน์จากการปลูกสร้างอันเป็นอาคารห้องที่พิพาทในคดีนี้นั่นเอง จำเลยตกลงยอมไว้ว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์อีก ๕๐,๐๐๐ บาท ในกำหนด ๓ เดือนนับจากวันที่ตกลง หากถึงกำหนดไม่ชำระให้ถือว่าตกลงเลิกสัญญาที่ยอมให้จำเลยอยู่ในอาคารตึกที่พิพาทนั้นต่อไป เป็นอันให้โจทก์คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยแล้ว ๘๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยในวันที่จำเลยออกจากตึกรายพิพาท และเมื่อจำเลยต้องออก แล้วยังไม่ได้ออกไป ก็ให้จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยวันละ ๑๐๐ บาท จนกว่าจะได้ออกไป ตามคำให้การของจำเลยก็ให้การรับรองไว้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์ดังนี้จริง สัญญาที่จำเลยรับรองว่าทำไว้จริงนี้ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย มีผลบังคับตามกฎหมายที่จำเลยต้องผูกพันทำตามสัญญานั้นแม้ในชั้นหลังต่อมานี้จะปรากฏว่าห้องรายพิพาทนั้นกลายเป็นห้องที่กระทรวงการคลังบอกริบเอาเป็นของกระทรวงการคลัง คือ นายเลี่ยนเป้าหรือโจทก์หมดสิทธิที่จะถือเอาประโยชน์จากห้องรายพิพาทนั้นไปแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญายอมความที่สมบูรณ์อยู่ก่อนแล้วนั้นต้องเสียไปเพราะเป็นเรื่องผูกมัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น การที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญายอม หาใช่เป็นการพ้นวิสัยตามความเห็นของศาลชั้นต้นไม่ส่วนข้อที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างนายเลี่ยนเป้ากับโจทก์ที่นายเลี่ยนเป้าให้โจทก์เข้าก่อสร้างแทนแล้วให้ได้ผลประโยชน์ในการเข้าทำแทน เป็นสัญญาที่ผูกพันระหว่างโจทก์กับนายเลี่ยนเป้า ไม่ผูกพันมาถึงคนภายนอก โจทก์จึงไม่มีสิทธิในห้องพิพาทนั้น เห็นว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับนายเลี่ยนเป้านั้น โดยแท้แล้วจะมีผลอย่างใดก็ตาม แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่าโจทก์เข้าทำการก่อสร้างให้กับนายเลี่ยนเป้า แทนที่นายเลี่ยนเป้าจะต้องทำเอง และนายเลี่ยนเป้าทำสัญญายกประโยชน์จากการที่นายเลี่ยนเป้าจะได้จากการก่อสร้างนั้นให้แก่โจทก์ ทั้งโจทก์ได้จัดทำขึ้นแล้ว แต่จำเลยได้แย่งเข้าไปอยู่โดยพลการ จึงย่อมเป็นข้อโต้แย้งขึ้นได้แล้วว่า โจทก์ได้ทำและครอบครองอยู่ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแทนหรือเพื่อจะส่งมอบแก่นายเลี่ยนเป้า ซึ่งโจทก์จะได้ใช้อ้างบังคับให้นายเลี่ยนเป้ามอบประโยชน์จากการที่ทำเสร็จนั้นให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่จำเลยเข้ามาขัดขวางเรื่องการส่งมอบนั้นเสีย ดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่า อย่างน้อยที่สุดข้อพิพาทเดิมของโจทก์จำเลยได้มีมูลอยู่จริง สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันใหม่นี้จึงย่อมมีผลได้ทั้ง ๆ ที่ข้อพิพาทเดิมนั้นจะไม่แน่นอนว่าฝ่ายใดจะมีสิทธิตามกฎหมายกันแท้จริงเพียงไร โดยเหตุฉะนี้ จึงเห็นว่าจะหยิบยกเอาเรื่องสัญญาภายในระหว่างนายเลี่ยนเป้ากับโจทก์มาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ที่ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ได้
ข้อที่จำเลยเถียงว่า จำเลยตกลงทำสัญญายอมเพราะกลัวต่อโทษทัณฑ์จากคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องหาว่าบุกรุกนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความกลัวดังนั้นไม่ทำให้สัญญายอมที่ทำไว้ต้องตกเป็นโมฆียะหรือเสียไป เพราะโจทก์ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อโรงศาลยุติธรรมโดยสุจริตอย่างตรงไปตรงมาความกลัวอย่างนี้ หากจะมีจริง ก็ไม่ทำให้สัญญายอมนั้นเสียไปได้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทในกำหนด อันเป็นผลที่จะต้องออกไปจากตึกรายพิพาท และใช้ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับให้โจทก์ในฐานที่ไม่ออกไปซึ่งคิดได้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๗ เป็นต้นไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายในการที่จำเลยไม่ออกดังที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น พอนับเนื่องได้ว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้เมื่อเห็นสมควรสำหรับในเรื่องนี้เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นมูลเดิมชักนำให้จำเลยเข้าไปอยู่ในห้องพิพาทและทั้งปรากฏว่าโจทก์เองก็รับเงินของจำเลยไปแล้วถึง ๘๐,๐๐๐ บาท อันปรากฏอยู่ตามสัญญาถ้าหากจำเลยจะยอมให้เงินอีก ๕๐,๐๐๐ บาท ทันในกำหนด โจทก์ก็ย่อมได้ประโยชน์เต็มตามความประสงค์ และขับไล่จำเลยไม่ได้ จึงเห็นว่าถ้าลดเบี้ยปรับนั้นลงเหลือเป็นวันละ ๓๕ บาท ก็พอสมควรกับรูปเรื่อง
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากตึกพิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับให้โจทก์วันละ ๓๕ บาทนับแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๗ จนกว่าจะออกไป แต่จำเลยมีสิทธิตามสัญญายอมที่จะได้รับเงินคืนจากโจทก์ ๘๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ออกไปจากตึกพิพาท