แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้มีหน้าที่จัดการทรัพย์สิน รวบรวมเงินค่าขายน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าของผู้เสียหาย จากสถานีบริการน้ำมันจัดส่งแก่ผู้เสียหายทุกวัน แต่จำเลยได้กระทำผิดหน้าที่ตน ด้วยการไม่จัดส่งค่าขายน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสินค้าตามหน้าที่โดยทุจริต โดยบังอาจลักเอาเงินที่เป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเพื่อให้ศาลวินิจฉัยลงโทษตามที่ศาลจะฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องที่ขัดกันอยู่ในตัว ทั้งจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอย่างไรเป็นเรื่องภายในใจของจำเลย ซึ่งจำเลยควรเข้าใจข้อหาได้ดีว่าโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดอย่างใด คำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วย พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 335, 353, 91 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก, 335 (11) วรรคแรก, 353 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและผู้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 19 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง (ที่ถูก ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง) ให้จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี กับให้จำเลยคืนเงิน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและยักยอก และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คำฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.19 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเพื่อให้ศาลวินิจฉัยลงโทษตามที่ศาลจะฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องอันเป็นการขัดแย้งกันอยู่ในตัว ทั้งจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอย่างไรเป็นเรื่องในใจของจำเลยซึ่งจำเลยควรเข้าใจข้อหาได้ดีว่าโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดอย่างใด คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.19 แต่การที่จำเลยมีหน้าที่รวบรวมเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าของผู้เสียหายจากสถานีบริการน้ำมันเพื่อจัดส่งให้แก่ผู้เสียหายนั้น ถือว่าผู้เสียหายได้มอบเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าดังกล่าวให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยเพราะจำเลยจะต้องถือและรักษาเงินจำนวนนั้นจนกระทั่งนำไปให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปในระหว่างที่ยังไม่ได้จัดส่งให้แก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 มิใช่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ด้วยดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในความผิดฐานนี้ว่าสมควรลงโทษปรับจำเลยสถานเดียวหรือไม่ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอีก เห็นว่า จำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายไปหลายครั้งเป็นจำนวนสูงถึง 193,155 บาท โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของผู้เสียหายและได้รับความไว้วางใจจากผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 19 กระทง จำคุก 57 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมแล้ว เป็นจำคุก 63 เดือน ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5