แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินที่จำเลยตกลงยกให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแต่มีการระบุเขตติดต่อของที่ดินไว้ทั้งสี่ด้านและทั้งโจทก์และจำเลยก็ได้ไปดูที่ดินจนเป็นที่พอใจแล้วนอกจากนี้การที่สัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าที่ดินมีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ก็แสดงว่าจำเลยก็ไม่ทราบจำนวนเนื้อที่แน่นอนดังนั้นแม้จะปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่เพียง 7 ไร่ ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อฉลโจทก์
ย่อยาว
จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยจำเลยยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เป็นการชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่เพียง 7 ไร่ 1 งานเศษ โจทก์จึงขอเปลี่ยนเป็นเอาเงินแทนที่ดิน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลไม่อาจบังคับนอกเหนือจากสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่า การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เป็นการชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่เพียง 7 ไร่ 1 งานเศษ ไม่ครบตามที่ตกลงกันนั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสองยกให้โจทก์เป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญ ได้ระบุเขตติดต่อของที่ดินไว้ทั้งสี่ด้าน สำหรับเนื้อที่ดินในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ระบุว่าประมาณ 12 ไร่ แสดงว่าจำเลยเองก็ไม่ทราบจำนวนเนื้อที่อันแน่นอนจึงระบุไว้เช่นนั้น นอกจากนี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 1ตุลาคม 2522 ศาลชั้นต้นยังได้บันทึกไว้ว่าในวันทำยอมโจทก์จำเลยทั้งสองไปดูที่ดินแล้ว เป็นที่พอใจดังนี้รูปคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อฉลโจทก์อันเป็นเหตุที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 วรรคสอง”
พิพากษายืน