คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยกับ ว. ผู้เอาประกันภัยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกแยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับ ว. แม้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเนื่องจาก ว. ผิดสัญญาและโจทก์ได้ยึดรถยนต์คืนไป ก็มีผลเฉพาะสัญญาเช่าซื้อ ส่วนสัญญาประกันภัยเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือข้อกำหนดในสัญญาระบุให้สัญญาสิ้นสุดลงจึงมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงชำระหนี้ได้
โจทก์ตกลงกับวัด ท. ให้ทางวัดจัดที่จอดรถให้ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนต่อคัน แม้โจทก์ไม่มีพนักงานของตนไปเฝ้ารักษารถ แต่ทางวัด ท. จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเพื่อทราบว่ามีรถยนต์มาจอดกี่คันจะได้เก็บค่าตอบแทนถูกต้อง ถือว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังพอสมควรโดยไม่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และโจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหลังจากทราบว่ารถยนต์หายไปเพียง 1 วัน กับแจ้งให้จำเลยทราบในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา ถือว่าได้มีการแจ้งโดยไม่ชักช้าแล้วไม่เป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ธ – 4753กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายวัชระพล อภิบาลศรี ได้เช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม2533 โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เช่าซื้อจะต้องเอาประกันภัยรถยนต์เพื่อป้องกันความสูญหายของรถยนต์และเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 4 ธันวาคม 2533 สิ้นสุดวันที่ 4 ธันวาคม2534 ต่อมา นายวัชระพลผู้เช่าซื้อผิดสัญญา โจทก์จึงติดตามเอารถยนต์กลับคืนและในระหว่างที่กรมธรรม์ประกันภัยยังไม่สิ้นผลบังคับมีคนร้ายลักรถยนต์ไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ในความสูญหายรถยนต์ได้แจ้งให้จำเลยทราบและบอกกล่าวให้จำเลยจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน700,000 บาท ตามสัญญาประกันภัย แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 742,431.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า นายวัชระพล อภิบาลศรี ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ได้ยึดรถยนต์คืนแล้วสัญญาเช่าซื้อเป็นอันระงับ เมื่อนายวัชระพลผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังนั้นจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืนมาแล้วกลับนำรถคันดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่วัดเทพศิรินทราวาส แขวงเทพศิรินทร์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โดยมิได้ว่าจ้างหรือจัดบุคคลดูแลรักษา การที่รถสูญหายถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้รับประโยชน์เองจำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ที่ให้แจ้งให้จำเลยทราบโดยไม่ชักช้าและแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ชักช้า แต่โจทก์กลับแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจหลังจากรถคันพิพาทสูญหายนานถึง 14 วัน ทำให้ไม่สามารถติดตามรถคืนได้ทัน มูลค่าที่แท้จริงของรถยนต์พิพาทขณะเกิดเหตุสูญหายมีราคาเพียง 500,000 บาท หากจำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ก็ต้องรับผิดเพียงมูลค่าที่แท้จริง 500,000 บาท และหากจำเลยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ก็ต้องนำเงินส่วนที่ผู้เช่าซื้อชำระไปบางส่วนมาหักออกด้วย นอกจากนี้กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดความคุ้มครองความรับผิดของจำเลยไว้เพียง 700,000 บาท เท่านั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดเต็มตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 700,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม2535 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ 22กันยายน 2536 ไม่เกิน 42,431.50 บาท)

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายวัชระพล อภิบาลศรี เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์และได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลย โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 4 ธันวาคม 2533 สิ้นสุดวันที่ 4 ธันวาคม2534 วันที่ 18 ตุลาคม 2534 โจทก์ยึดรถยนต์คืนเนื่องจากนายวัชระพลผิดสัญญาเช่าซื้อ และได้นำรถยนต์กลับมาเก็บรักษาไว้เอง ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ทราบว่ารถยนต์หายไปปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยกับนายวัชระพล อภิบาลศรี ผู้เอาประกันภัยระงับแล้วหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันภัยระหว่างนายวัชระพลกับจำเลยเป็นสัญญาอีกสัญญาหนึ่งแยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับนายวัชระพล ผลของสัญญาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ลักษณะของสัญญาแต่ละสัญญา แม้ว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับนายวัชระพลจะสิ้นสุดลงเนื่องจากนายวัชระพลผิดสัญญาเช่าซื้อและโจทก์ได้ยึดรถยนต์คืนไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2534 ก็มีผลเฉพาะสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นส่วนสัญญาประกันภัยนั้นจะสิ้นสุดลงหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดในสัญญา เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือข้อกำหนดในสัญญาระบุให้สัญญาประกันภัยสิ้นสุดลงสัญญาประกันภัยก็จะมีผลใช้บังคับอยู่จำเลยฎีกาว่าสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นตามข้อบังคับของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อที่บังคับว่าผู้เช่าซื้อจะต้องประกันภัยรถยนต์โดยทันที ก็เห็นว่า เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายวัชระพล จำเลยหาได้ถูกบังคับด้วยไม่ จำเลยสมัครใจเข้าทำสัญญาประกันภัยจะปัดความรับผิดชอบตามสัญญาหาได้ไม่ และเมื่อสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยกับนายวัชระพลระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่เป็นลูกหนี้โดยตรงได้ สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยกับนายวัชระพลไม่ระงับไป

ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่า รถยนต์สูญหายเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำรถยนต์ไปเก็บไว้ที่วัดเทพศิรินทราวาสซึ่งเป็นลานจอดรถสาธารณะบุคคลทั่วไปก็สามารถนำรถไปจอดได้เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มีพันตำรวจตรีสมภพ คูหาวิชานันท์ มาเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า ที่จอดรถดังกล่าวอยู่ภายในรั้ววัดเทพศิรินทราวาสกรุงเทพมหานคร เป็นลานจอดรถสาธารณะ ซึ่งเป็นของวัดดังกล่าวในเวลากลางวันจะให้บุคคลทั่วไปส่วนมากจะเป็นผู้ที่ทำงานในบริเวณนั้นนำรถเข้ามาจอดได้ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีบุคคลซึ่งพักอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นนำรถเข้ามาจอดไว้เช่นกัน ในขณะที่พยานไปตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่เห็นมีการตรวจตราผู้ที่เข้าไปในลานจอดรถ ทั้งไม่มีการตรวจบัตรหรือขอรับบัตรผ่านเข้าไปยังสถานที่ดังกล่าว และมีนายกฤติศิลป์ เชาว์ปัญญานนท์ พยานจำเลยมาเบิกความสนับสนุนว่าได้สอบถามพนักงานของโจทก์จำนวน 2 คน ได้ความว่าการที่โจทก์นำรถยนต์คันที่หายไปจอดนั้นเป็นบริเวณวัดเทพศิรินทราวาสโดยมีเจ้าหน้าที่ของวัดเป็นผู้เฝ้าไม่มีสัญญาว่าจ้างในการฝากรถเพียงแต่ให้ค่าบริการเป็นรายเดือนเท่านั้น และไม่มีพนักงานของโจทก์ดูแลรักษารถที่จอดไว้ในลานจอดรถและพันตำรวจตรีสมภพได้เบิกความต่ออีกว่าพยานไปที่วัดดังกล่าวบ่อยครั้ง ไม่แน่ใจว่าทางวัดจะมีเจ้าหน้าที่จัดรถในการเข้าไปจอดในลานจอดรถดังกล่าวหรือไม่ และพยานไม่ได้สอบสวนว่าเกี่ยวกับการฝากรถดังกล่าวมีการเก็บค่าตอบแทนหรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีนายจำรัส ช่วยสกุล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า สถานที่ที่จัดเก็บรถยนต์ที่วัดเทพศิรินทราวาสดังกล่าวเป็นสถานที่ที่จัดเก็บรถยนต์ที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้จ่ายค่าดูแลรักษาให้อัตราเดือนละ 400 บาท ต่อคันซึ่งโจทก์ได้นำรถไปเก็บไว้ที่สถานที่ดังกล่าวจำนวนหลายคัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ตกลงกับวัดเทพศิรินทราวาส ให้ทางวัดเทพศิรินทราวาสจัดที่จอดรถให้โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนต่อคัน แม้ว่าโจทก์จะไม่มีพนักงานของตนไปเฝ้ารักษารถ แต่ก็เห็นได้ว่าในการจัดที่จอดรถให้แก่โจทก์ ทางวัดเทพศิรินทราวาสจะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเพื่อจะได้ทราบว่ามีรถยนต์มาจอดกี่คัน เพื่อที่จะได้เก็บค่าตอบแทนถูกต้อง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังพอสมควรแล้วการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ปัญหาวินิจฉัยประการที่สามมีว่า โจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่ารถยนต์หายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534โจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2534 ผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่าจะต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและแจ้งให้จำเลยทราบโดยไม่ชักช้า แต่โจทก์มีนายจำรัส ช่วยสกุล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความว่าได้มีการตรวจสอบทราบว่ารถยนต์หายไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 โจทก์มอบอำนาจให้นายทวีศักดิ์พวงศร แจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 1ตามเอกสารหมาย จ .7 หลังจากนั้นโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 นายดำรง จิระวรพัฒน์ พยานจำเลยก็เบิกความว่าตามเอกสารหมาย ล.4 ปรากฏว่านายทวีศักดิ์ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานตำรวจ แต่ไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของรถยนต์คันที่เอาประกันภัย พนักงานตำรวจจึงมิได้รับคำร้องทุกข์ของนายทวีศักดิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 นายทวีศักดิ์ได้นำหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงได้รับคำร้องทุกข์ของนายทวีศักดิ์ไว้ในวันดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล .5 แสดงว่าโจทก์ได้มีการแจ้งความต่อพนักงานตำรวจ เมื่อวันที่ 8 และ 15 พฤศจิกายน 2534 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8พฤศจิกายน 2534 หลังจากทราบว่ารถยนต์หายไปเพียง 1 วัน และได้แจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 ถือได้ว่าได้มีการแจ้งโดยไม่ชักช้าแล้ว โจทก์จึงมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย”

พิพากษายืน

Share