คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความโฆษณาที่ล้อเลียนคำพูดของผู้เสียหายผู้ซึ่งอยู่ในฐานะที่อาจถูกบุคคลอื่นล้อเลียนได้ด้วยข้อความอย่างเดียวกัน แม้จะหยาบคายหรือกล่าวเกินไปบ้าง แต่ก็รวมอยู่ในข้อความล้อเลียนย่อมไม่เป็นหมิ่นประมาท

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา จำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการผู้ดำเนินงาน กองดำเนินการและกองจัดการ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ภาคใต้ออกราย ๕ วัน จำเลยทั้งสามได้บังอาจลงข้อความหมิ่นประมาทนายวีระ ตัณฑะปุตตะ ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวฉบับลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๐ว่า “ผู้การเขต ๑๐ (ตันอุยหลิม) คำรามว่า จะเอา ตร. ตชด. ออกให้หมดฐานซ้อมสมชาย อรุณรัตนา แล้วที่เฝ้าหน้าบ้านจะทำฉันท์ใด” ซึ่งเป็นข้อความที่น่าจะทำให้นายวีระ ตัณฑะปุตตะ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตำบล และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘, ๘๓
จำเลยทั้งสามสู้ว่าไม่ผิด โดยเฉพาะจำเลยที่ ๒ สู้ว่าไม่ได้กระทำผิดด้วย
ข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า ผู้เสียหายในคดีนี้เป็นคหบดีชาวจีนชื่อตันอุยหลิม ได้แปลงชาติเป็นไทยใช้ชื่อ วีระ ตัณฑะปุตตะ ได้ให้ความช่วยเหลือทางราชการเป็นอันมาก จนอธิบดีกรมตำรวจได้สั่งให้ตำรวจไปอารักขาที่บ้านผู้เสียหายเป็นประจำ วันหนึ่งก่อนเกิดเหตุนายสมชาย อรุณรัตนา ผู้จัดการโรงหนังของผู้เสียหายถูกตำรวจตะเวนชายแดนทำร้าย ผู้เสียหายได้กล่าวพาดพิงถึงว่า จะเอาตำรวจตระเวนชายแดนออก ได้มีการลงหนังสือพิมพ์ถึงเรื่องนี้ จำเลยที่ ๑เป็นผู้พิมพ์โฆษณา จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นผู้สื่อข่าวเรื่องนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ มิได้ร่วมกระทำความผิด จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง ให้จำคุกคนละ ๒ เดือน ปรับคนละ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำรอไว้ ๓ ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นแย้งว่าควรจะยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ด้วย จำเลยทั้งสองจึงได้ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาสู่ศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อผู้เสียหายมีฐานะและความสำคัญดังกล่าว การที่จำเลยลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นการใส่ความอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่อย่างใด เพราะบุคคลซึ่งมีฐานะและความสำคัญเช่นผู้เสียหายนี้ก็อาจจะถูกบุคคลอื่นล้อเลียนได้ ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “ผู้การเขต ๑๐ (ตันอุยหลิม)” ก็เป็นการล้อเลียนผู้เสียหายว่าเป็นคนใหญ่คนโตมีวาสนาเท่ากับผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตคนหนึ่ง ซึ่งตำรวจเขต ๑๐ ก็ไม่มี มีแต่เขต ๙ จึงเห็นได้ว่าเป็นการล้อเลียนด้วยการยกยอ เพราะผู้เสียหายมีตำรวจเฝ้าบ้านถึง ๖ คนส่วนคำว่า “คำราม” นั้น แม้จะหยาบคายไปบ้าง ก็ยังรวมอยู่ในการล้อเลียนทั้งหมดนั่นเอง เมื่อข้อความซึ่งจำเลยลงโฆษณาเป็นการล้อเลียนผู้เสียหายเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความนั้นไม่เป็นหมิ่นประมาทผู้เสียหาย พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เสียด้วย

Share