แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองเพียงแต่ให้การว่า โจทก์สละมรดกที่ดินพิพาท และคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด หนึ่งปีนับแต่โจทก์ทราบว่าเจ้ามรดกถึงแก่กรรมซึ่งการสละมรดก ที่ดินพิพาทกับการมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นข้อเท็จจริง คนละอย่างต่างกัน ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์หมดสิทธิรับมรดกเนื่องจากโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกคำให้การ ถือว่าเป็น ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ท. เช่าที่ดินพิพาทจาก จ. แม้ จ. ถึงแก่กรรมแล้วท. ก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ จ. ซึ่งก็คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองที่เป็น ผู้เก็บค่าเช่าเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้านนั้นยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบ และมีการกำหนดเวลาไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้านเมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของ จ. เจ้ามรดกหรือไม่ ย่อมมีความหมายครอบคลุมรวมถึงมีสิทธิได้รับมรดกเพียงใดหรือทรัพย์มรดกมีเพียงใดด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้ในข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า นางจิ๊ถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม โจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายร่วมกันครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกตลอดมา ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2535 จำเลยทั้งสองแอบลงชื่อเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวโดยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ทายาทของผู้ตายมีเฉพาะจำเลยทั้งสอง โจทก์เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2536 จึงแจ้งอายัดที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ไว้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1558 หรือแบ่งเฉพาะส่วนของโจทก์หนึ่งในสาม คิดเป็นเนื้อที่ 6 ไร่28 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า นางจิ๊กับจำเลยทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน เมื่อนางจิ๊ถึงแก่กรรมที่ดินส่วนของนางจิ๊ตกเป็นมรดกแก่จำเลยทั้งสองส่วนโจทก์ได้สละมรดกเพราะเคยได้รับที่ดินก่อนแล้ว โจทก์ทราบตั้งแต่ปี 2530 ว่า นางจิ๊ถึงแก่กรรม สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1558 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์เป็นเจ้าของร่วม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนางจิ๊ พุฒชื่นบาน กับ นายแหล ปี 2469นายแหลถึงแก่กรรม นางจิ๊มีสามีใหม่คือนายพยอม พุฒชื่นบานมีบุตรด้วยกัน 6 คน รวมทั้งจำเลยทั้งสอง ปี 2506 นายพยอมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 นางจิ๊รับโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1558 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่)จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 18 ไร่ 84 ตารางวา จากนางทอง น้อยวานิช ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.12 ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2530 นางจิ๊ถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์หมดสิทธิรับมรดกเนื่องจากโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เพราะจำเลยทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นว่า โจทก์สละมรดกที่ดินพิพาทซึ่งหมายถึงโจทก์มิได้เกี่ยวข้องครอบครองที่ดินพิพาทนั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสองเพียงแต่ให้การว่า โจทก์สละมรดกที่ดินพิพาทและคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่โจทก์ทราบว่าเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ซึ่งการสละมรดกที่ดินพิพาทกับการมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นข้อเท็จจริงคนละอย่างต่างกัน ดังนั้นข้อที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์หมดสิทธิรับมรดกเนื่องจากโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อมาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่านางทองเช่าที่ดินพิพาทจากนางจิ๊แม้นางจิ๊ถึงแก่กรรมแล้วก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่านางทองครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนางจิ๊คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองแม้จำเลยทั้งสองจะเป็นผู้เก็บค่าเช่าก็ตาม และการที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้านนั้น ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบ และมีการกำหนดเวลาไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่รับวินิจฉัยให้ในข้อเท็จจริงที่ว่า ทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เพียงใด เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของนางจิ๊เจ้ามรดกหรือไม่ ย่อมมีความหมายครอบคลุมรวมถึงมีสิทธิได้รับมรดกเพียงใดหรือทรัพย์มรดกมีเพียงใดด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้ในข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเสียก่อนเห็นว่าข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ได้ความชัดว่านางจิ๊นำเงินสินเดิมของนายพยอมมาซื้อที่ดินพิพาทดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ แต่ข้อเท็จจริงกลับรับฟังได้ว่านางจิ๊ซื้อที่ดินพิพาทหลังจากนายพยอมถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 12 ปี กรณียังรับฟังไม่ได้ว่านางจิ๊นำเงินสินเดิมของนายพยอมมาซื้อที่ดินพิพาท ดังนั้น ทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทจึงมีเนื้อที่ 18 ไร่ 84 ตารางวา มิใช่เนื้อที่ 6 ไร่ 28 ตารางวา ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน