แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามหนังสือมอบอำนาจตอนท้ายระบุว่า เพื่อเป็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าวกรรมการผู้มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทต่อหน้าโนตารีปับลิกประจำท้องถิ่น และยังมีข้อความว่า ลายมือชื่อ ตราประทับ และส่งมอบโดย อ. ผู้มีชื่อปรากฏข้างต้นต่อหน้าโนตารีปับลิก ตามคำฟ้องกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงว่าตามข้อบังคับของโจทก์ กรรมการผู้มีอำนาจจะลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ได้จะต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วย ฉะนั้น ในกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนนี้ โจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว ในเมื่อตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว อ. ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจโจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงว่า รายละเอียดตามหนังสือมอบอำนาจนั้น โจทก์จะได้เสนอศาลในชั้นพิจารณาต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาท้ายฟ้อง จำเลยจึงไม่สามารถตรวจดูหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวและไม่สามารถยกเรื่องไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การได้ นอกจากนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็ได้ยกเรื่องหนังสือมอบอำนาจมาวินิจฉัยดังนี้ ถือได้ว่าปัญหาข้อนี้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำเลยจึงยกปัญหาข้อนี้ข้ออ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกับประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท โจทก์โดยนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง กรรมการผู้มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักงานกฎหมายเอ็มแอนด์ดับบลิว ดำเนินคดีนี้ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด จดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งสินค้าและคนโดยสารและรับเป็นตัวแทนในการดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้ายาวีโนโกลบูลิน จำนวน 200 ขวด ที่บริษัทอัลฟา เทราพิวทิค เอเชีย พีทีอี จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ขายให้แก่บริษัทอัลฟา เทราพิวทิค (ประเทศไทย) จำกัด การซื้อขายตกลงกันภายใต้เงื่อนไขแบบ CIF BANGKOK รวมเป็นเงิน 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยให้ขนส่งสินค้าทางอากาศ ผู้ขายติดต่อขอเอาประกันภัยสินค้าสินค้าดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์ตกลงรับประกันภัยโดยมีทุกประกันภัยจำนวน 14,300 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสินค้าถูกขนส่งถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ ผู้ซื้อได้ว่าจ้างให้จำเลยดำเนินพิธีการศุลกากร และจัดการขนส่งจากท่าอากาศยานกรุงเทพส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อที่คลังสินค้าของผู้ซื้อโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องดูแลจัดการขนส่งสินค้าให้ถึงคลังสินค้า และจัดเก็บเข้าคลังสินค้าของผู้ซื้อภายในวันที่ได้รับมอบสินค้าจากท่าอากาศยานกรุงเทพ เนื่องจากสินค้าต้องถูกจัดเก็บในคลังสินค้าที่กำหนดอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส จำเลยตกลงดำเนินการตามเงื่อนไขที่ผู้ซื้อว่าจ้าง เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 จำเลยดำเนินพิธีการศุลกากรเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยติดต่อขอรับมอบสินค้าไปจากคลังสินค้าของท่าอากาศยานกรุงเทพ แต่จำเลยมิได้จัดการขนส่งสินค้มามอบให้แก่ผู้ซื้อภายในวันที่ได้รับมอบสินค้า จนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ผู้ซื้อตรวจพบว่าจำเลยยังมิได้นำสินค้ามาส่งมอบให้ตามที่ตกลงกัน เป็นเวลาเกินกว่า 3 วัน ถือว่าจำเลยประพฤติผิดข้อตกลงและผิดสัญญาต่อผู้ซื้อ เหตุดังกล่าวทำให้สินค้าทั้งหมดได้รับความเสียหายเสื่อมคุณภาพลงไม่อาจนำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นยาที่ต้องนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ผู้ใช้ยา ต่อมาผู้ซื้อดำเนินการตรวจสอบพบว่าสินค้าได้รับความเสียหายไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้จึงทำลายทิ้งทั้งหมดและแจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยเพิกเฉย ผู้ซื้อจึงเรียกร้องค่าเสียหายมายังตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อเป็นเงิน 561,092.20 บาท เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2545 คิดถึงวันฟ้องได้เป็นเงิน 34,703.23 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 595,796.43 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 595,796.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 561,093.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 595,796.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 561,093.20 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มิถุนายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกัน รับฟังเป็นยุติว่า บริษัทอัลฟา เทราพิวทิค เอเชีย พีทีอี จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้ขายสินค้าคือยาวีโนโกลบูลิน จำนวน 200 ขวด ให้แก่บริษัทอัลฟา เทราพิวทิค (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีการซื้อขายภายใต้เงื่อนไขแบบ CIF BANGKOK ในราคา 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้จากบริษัทอัลฟา เทราพิวทิว เอเชีย พีทีอี จำกัด ในทุนประกันภัยจำนวน 14,300 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีข้อตกลงว่าหากสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายไปไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุใดๆ หรือจากภัยใดก็ตามในระหว่างการขนส่งจากคลังสินค้าของผู้ขายไปจนถึงคลังสินค้าของผู้ซื้อ โจทก์ตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์แล้วแต่กรณีตามความเสียหายที่แท้จริงตามกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมคำแปล เมื่อสินค้าดังกล่าวถูกขนส่งถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ บริษัทอัลฟา เทราพิวทิค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ซื้อได้ว่าจ้างให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร ในวันที่ 13 มิถุนายน 2545 จำเลยได้ดำเนินการเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรเรียบร้อยแล้ว และโจทก์อ้างว่าผู้ซื้อได้ว่าจ้างให้จำเลยติดต่อรับมอบสินค้าจากคลังสินค้าของท่าอากาศยานกรุงเทพและจัดการขนส่งสินค้าไปยังคลังสินค้าของผู้ซื้อที่ถนนสุขุมวิทด้วยโดยจำเลยแจ้งว่าจะรับสินค้าและจัดการขนส่งสินค้าเข้าโกดังผู้ซื้อในวันเดียวกันคือวันที่ 14 มิถุนายน 2545 แต่จำเลยผิดสัญญาโดยจัดการขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในวันที่ 17 เดือนเดียวกัน และผู้ซื้อตรวจพบว่าสินค้ามิได้มีการจัดเก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ตามที่ได้ตกลงติดต่อกันเกินกว่า 3 วัน ทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพไม่อาจนำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ ผู้ซื้อต้องนำสินค้าไปทำลายทั้งหมดและแจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยเพิกเฉย ผู้ซื้อจึงเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อแล้วเป็นเงิน 561,093.20 บาท เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ตามสำเนาเช็คและใบรับช่วงสิทธิพร้อมคำแปล โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้วตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและใบตอบรับแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงทำหนังสือมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักงานกฎหมายเอ็มแอนด์ดับบลิว ดำเนินคดีนี้ตามหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกและหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานกฎหมาย เอ็มแอนด์ดับบลิว ดำเนินคดีแทนโดยชอบ หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์มาด้วยว่าการมอบอำนาจดังกล่าวนอกจากนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแล้วต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วย จึงจะมีผลสมบูรณ์ แต่ตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับไว้ การมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ชอบ เห็นว่า แม้ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะมีโนตารีปับลิกของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นพยานรับรอง แต่ตามหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกดังกล่าวโนตารีปับลิกได้รับรองและเป็นพยานเพียงว่านายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโรยัลแอนด์ซันอัลลายแอนซ์ประกันภัย (สิงคโปร์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้จัดตั้งขึ้นถูกต้องและดำรงอยู่ภายใต้กฎหมายแห่งสิงคโปร์ และนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง ได้แสดงต่อพยานว่ามีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้หนังสือมอบอำนาจที่แนบท้ายเอกสารนี้มีผลตามกฎหมายสำหรับและแทนบริษัทดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือมอบอำนาจ ดังกล่าว และนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง ได้ลงลายมือชื่อโดยถูกต้องและสมัครใจในหนังสือมอบอำนาจเท่านั้น ส่วนนอกนั้นจะยังต้องมีการกระทำอย่างไรหรือต้องประทับตราสำคัญของบริษัทอีกด้วยหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เนื่องจากตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายยืนยันว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์โดยมีนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามพร้อมกับประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้ และในคดีนี้โจทก์โดยนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง ได้แสดงตนต่อหน้าโนตารีปับลิกพร้อมเอกสารทั้งได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์มอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักงานกฎหมายเอ็มแอนด์ดับบลิว ดำเนินคดีนี้ประกอบกับตามหนังสือมอบอำนาจตอนท้ายก็ระบุว่าเพื่อเป็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าวข้างต้น กรรมการผู้มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทต่อหน้าโนตารีปับลิกประจำท้องถิ่น และยังมีข้อความว่า ลงลายมือชื่อ ประทับตรา และส่งมอบโดยนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง ผู้มีชื่อปรากฏข้างต้นต่อหน้าโนตารีปับลิก ตามคำฟ้องกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงว่าตามข้อบังคับของโจทก์ กรรมการผู้มีอำนาจจะลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ได้จะต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วย ฉะนั้น ในกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนนี้ โจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว ในเมื่อตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวนายเอ็ดมุน ลิม คิม เล็ง ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ชอบ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานกฎหมายเอ็มแอนด์ดับบลิวผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีนี้ ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องนี้ไว้ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นมากล่าวอ้างนั้นเห็นว่า เกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงว่ารายละเอียดตามหนังสือมอบอำนาจนั้น โจทก์จะได้เสนอศาลในชั้นพิจารณาต่อไป โดยโจทก์ไม่ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาท้ายคำฟ้อง จำเลยจึงไม่สามารถตรวจหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และไม่สามารถยกเรื่องไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวขึ้นต้นสู้ไว้ในคำให้การได้ ทั้งในเรื่องนี้นางรัชนีพยานจำเลยก็ได้เบิกความโต้แย้งไว้แล้วว่าพยานได้ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจแล้วปรากฏว่าไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับ และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยแล้วว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวถูกต้องแท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ไม่จำเป็นต้องมีตราประทับของบริษัท ดังนี้ ถือได้ว่าปัญหาข้อนี้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยจึงยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ได้ และเมื่อวินิจฉัยได้ความดังกล่าวแล้ว กรณีก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยในอุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์