คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เนื้อหาในฎีกาที่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาล แม้จะอ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ขึ้นมาโต้แย้งว่า การได้มาซึ่งพยานหลักฐานในส่วนดังกล่าวมิชอบไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แต่หาได้เป็นข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาเพื่อเอาชนะคดีโดยชัดแจ้งไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีเพียง 95,476.24 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 95,476.24 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 90,000 บาท นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การศาลชั้นต้นนัดไต่สวน เมื่อถึงวันนัด จำเลยขอเลื่อนการพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการประวิงคดี จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต และให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดี แล้วมีคำสั่งและคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลย เมื่อถึงวันนัด จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณา ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2538 ของต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 และของต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมแล้วต้องไม่เกิน 5,476.24 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยข้อ 3.2 ที่ว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีแล้วมีคำสั่งและคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ชอบที่ศาลชั้นต้นจะทำการสืบพยานใหม่ การที่นายไพบูลย์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และในฐานะทนายโจทก์เพียงแต่เข้าเบิกความว่า โจทก์ขอถือเอาคำเบิกความของตัวโจทก์และของพยานบุคคลอื่นๆ ที่ได้เคยเบิกความไว้ในชั้นพิจารณาก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นพยานหลักฐาน แล้วศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำเบิกความของตัวโจทก์และของพยานบุคคลอื่นๆ ของโจทก์ซึ่งเคยเบิกความไว้แล้ว ดังกล่าวถือเป็นพยานเอกสารที่แสดงว่าตัวโจทก์และพยานบุคคลอื่นๆ ได้เคยบอกเล่าไว้อย่างไรต่อศาล เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ก็ไม่ต้องห้ามที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งเพื่อพิเคราะห์ประกอบพยานเอกสารอื่นของโจทก์ที่อ้างส่ง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ทั้งคำเบิกความของนายไพบูลย์ในครั้งหลังนี้เป็นเพียงพยานบอกเล่าเท่ากับได้รับฟังคำพยานบุคคลปากอื่นของโจทก์มาก่อน ชอบที่ศาลจะไม่รับฟังพยานปากนายไพบูลย์จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าจำเลยต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่า เนื้อหาในฎีกาข้อนี้มีลักษณะเป็นการโต้แย้งว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง เพียงแต่อ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ขึ้นมาโต้แย้งว่าการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในส่วนดังกล่าวมิชอบ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง หาได้เป็นข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาเพื่อเอาชนะคดีโดยชัดแจ้งไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีเพียง 95,476.24 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share