แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทนซื้อหุ้นของบริษัทให้แก่จำเลยผู้เป็นตัวการ โจทก์ได้ออกเงินทดรองชำระค่าหุ้นดังกล่าวแทนจำเลยไปก่อน เช่นนี้โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นสำหรับหุ้นที่โจทก์ซื้อแทนจำเลยและยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ได้จนกว่าจำเลยจะชำระเงินที่โจทก์ทดรองออกแทนจำเลยไปก่อน ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241, 244 และ 819 แม้การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ก็เป็นเรื่องจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น สิทธิยึดหน่วงของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 6 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1725/2528) ฉะนั้นการที่ฟ้องให้จำเลยล้มละลายโจทก์จึงต้องปฏิบัติตาม มาตรา 10 (2) โดยกล่าวมาในฟ้องว่าถ้าจำเลยล้มละลายแล้วโจทก์ยอมสละหุ้นของจำเลยแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหุ้นดังกล่าวมาในฟ้องด้วย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายโดยอ้างว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลย โจทก์ได้ซื้อหุ้นและออกเงินทดรองแทนจำเลยไปรวมทั้งดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องรับผิดแล้ว จำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมทั้งสิ้น ๑,๘๒๕,๑๗๒.๓๓ บาท
จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคยสั่งซื้อหุ้นตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ มาตรา ๑๐ (๒) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทนซื้อหุ้นของบริษัทให้แก่จำเลยผู้เป็นตัวการ โจทก์ได้ออกเงินทดรองชำระค่าหุ้นดังกล่าวแทนจำเลยไปก่อน โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นสำหรับหุ้นที่โจทก์ซื้อแทนจำเลยและยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ได้จนกว่าจำเลยจะชำระเงินที่โจทก์ทดรองออกแทนจำเลยไปก่อนทั้งนี้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑, ๒๔๔ และ ๘๑๙ แม้การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น สิทธิยึดหน่วงของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่เมื่อโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๖ ดังที่ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๒๕/๒๕๒๘ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โตเกียว จำกัด โจทก์ นางสาวศศิธรหรือนางวราภรณ์ พุทธวิบูลย์ จำเลย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยพัฒนา จำกัด เจ้าหนี้ ฉะนั้น การที่ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐ (๒) โดยกล่าวมาในฟ้องว่าถ้าจำเลยล้มละลายแล้วโจทก์ยอมสละหุ้นของจำเลยแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหุ้นดังกล่าวมาในฟ้องด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
พิพากษายืน