แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกันและเป็นหนี้เงินเหมือนกันทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วยจึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา341การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่1เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์แต่จำเลยที่1ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่2ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่1เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่1ในนามของโจทก์เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่2เช่นนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา233และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา236กำหนดให้จำเลยที่มีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้นเว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้วปรากฏว่าจำเลยที่1เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่2ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่2จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่1ขึ้นต่อสู้โจทก์โดยขอหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา341และ342ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1255/2529 ของศาลชั้นต้นในนามโจทก์แทนจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในนามของโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1255/2529 ของศาลชั้นต้น แต่ให้หักกลบลบหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 137/2525 (ที่ถูกเป็น 137/2535) ของศาลชั้นต้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2535
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ให้หักกลบลบหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อกัน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1255/2529และ 137/2535 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จากคำฟ้องคำให้การจำเลยที่ 2 และจากพยานหลักฐานโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการประเมินของโจทก์ซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นจำนวนเงิน 3,094,123.24 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2527 และ 2528ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.8 โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระต่อมาประมาณเดือนมีนาคม2530 โจทก์ตรวจพบและทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ที่จำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1255/2529 ของศาลชั้นต้นเป็นเงินประมาณ 384,610 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังมิได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงให้นายอำเภอเมืองนครปฐมมีหนังสือแจ้งอายัดหนี้ดังกล่าวไปยังจำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยห้ามจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากรให้โจทก์และไม่ยอมบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งจำเลยที่ 2ก็ไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และแก่โจทก์ แต่เมื่อวันที่6 มีนาคม 2535 ก่อนฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ตกเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 137/2535 ของศาลชั้นต้นเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 214,750 บาท จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำให้การขอหักกลบลบหนี้ตามคำพิพากษาคดีทั้งสองดังกล่าวในคดีนี้ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2จะหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกันเป็นหนี้เงินเหมือนกัน ทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วยกัน จึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 236 บัญญัติไว้ว่า”จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใด ๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว” ในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ขึ้นต่อสู้โจทก์ โดยขอหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และ 342 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น