แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 11 บัญญัติให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเช่น พนักงานยาสูบที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2530 พ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณ อันหมายถึงสิ้นเดือนกันยายน 2530 ซึ่งจำเลยจะต้องดำเนินการให้พนักงานยาสูบผู้นั้นออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป และทำให้พนักงานยาสูบดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนับแต่วันเลิกจ้าง หากจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ก็ต้องถือว่าพนักงานยาสูบผู้นั้นถูกโต้แย้งสิทธินับแต่วันดังกล่าว แต่ขณะที่สหภาพแรงงานโจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่มีพนักงานยาสูบซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์คนใดถูกโต้แย้งสิทธิในกรณีเช่นว่านี้ ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยไว้ล่วงหน้าตามคำขอของโจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การบริหารงานของจำเลย จำเลยเป็นนายจ้างของพนักงานยาสูบทั้งหมดรวมทั้งสมาชิกของโจทก์ด้วย จำเลยได้เคยจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานยาสูบที่ปลดเกษียณตามคำสั่งที่ ท. 6/2523 จึงถือว่าคำสั่งที่ ท. 6/2523 เป็นสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับพนักงานยาสูบทั้งหมด ต่อมาจำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานยาสูบที่ปลดเกษียณอีกต่อไป การกระทำของจำเลยเป็นการขัดกับสภาพการจ้างที่จำเลยมีอยู่กับโจทก์และพนักงานยาสูบทั้งหมดขอให้ถือว่าคำสั่งที่ท. 6/2523 เป็นสภาพการจ้างและให้จำเยจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานที่จะปลดเกษียณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2530 เป็นต้นไป
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า จากคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีพอวินิจฉัยได้ให้นัดฟังคำพิพากษา
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ศาลไม่มีอำนาจที่จะพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ตามที่โจทก์ขอได้ เพราะกรณียังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ อีกทั้งไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลที่จะกำหนดวิธีการบังคับไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนที่ข้อโต้แย้งจะเกิดขึ้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองกรณีได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ท.6/2523 ลงวันที่ 4 มกราคม 2523 เป็นสภาพการจ้าง และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ครบเกษียณอายุในงบประมาณ 2530เป็นต้นไปได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 11 บัญญัติให้พนักงานรัฐวิสาหกิจดังเช่นพนักงานยาสูบนี้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2530 พ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณ อันหมายถึงสิ้นเดือนกันยายน 2530 ซึ่งจำเลยก็จะดำเนินการให้พนักงานยาสูบผู้นั้นออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้พนักงานยาสูบดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนับแต่วันเลิกจ้าง หากจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ก็ต้องถือว่าพนักงานยาสูบผู้นั้นถูกโต้แย้งสิทธินับแต่วันดังกล่าว แต่ขณะที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังไม่มีพนักงานยาสูบซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์คนใดถูกโต้แย้งสิทธิในกรณีเช่นว่านี้ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยไว้ล่วงหน้าตามคำขอของโจทก์ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ ท. 6/2523 เป็นสภาพการจ้างหรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.