คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่มีต่อโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3 ว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองถึงความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ และจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยที่มีต่อโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 และโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวดังนี้จำเลยที่ 3 ย่อมยกเงื่อนไข ข้อยกเว้น และข้อจำกัดความรับผิดของตนที่กำหนดไว้ในสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้เว้นแต่เงื่อนไข ข้อยกเว้น หรือข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมาย แต่เมื่อข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3ตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับได้ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ค้นที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน4ว-5730 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน6ง-6089 กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว และเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2536 เวลา 15 นาฬิกา จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตามหลังรถยนต์โจทก์ด้วยความเร็วสูงและแซงขึ้นทางซ้าย แต่ไม่พ้น จึงพุ่งชนท้ายรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 72,977.40 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 70,497.87 บาท นับถัดจากยันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 มีข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามข้อ 2.13.6ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 49,297.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากยอดเงิน 34,497.87 บาท นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2536 ถึงวันฟ้องแต่ไม่เกิน 2,479.53 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากยอดเงิน 49,297.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่มีต่อโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13.6 มีเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3ว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองถึงความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ และจำเลยที่ 1ขับรถยนต์ค้นที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3ผู้รับประกันจะยกข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามสัญญาข้างต้นขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันจะมีผลให้จำเลยที่ 3ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยที่มีต่อโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 3ย่อมยกเงื่อนไข ข้อยกเว้นและข้อจำกัดความรับผิดของตนที่กำหนดไว้ในสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ เว้นแต่เงื่อนไขข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมาย แต่ข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรมประกันภัย ข้อ 2.13.6 ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีผลบังคับได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share