แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่กรรมการบริษัทจำกัดฉ้อโกงบริษัท และบริษัทนั้นไม่ยอมดำเนินคดีกับกรรมการที่ฉ้อโกง ผู้ถือหุ้นย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีทางอาญาขอให้ลงโทษกรรมการผู้นั้นได้
เมื่อได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่หาว่าจำเลยได้กระทำขึ้นเกี่ยวกับเงินจำนวนใดแล้ว จะฟ้องจำเลยนี้ในจำนวนเงินเดียวกันนั้นอีก แม้จะอ้างความผิดคนละฐานกับคดีเดิมก็ตาม จะกระทำมิได้ เป็นฟ้องซ้ำเพราะสิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปแล้ว
อุทธรณ์บางข้อที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยเสียเองได้ ไม่ต้องย้อนสำนวนไป ถ้าเห็นเป็นการสมควร (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 28/2503)
ย่อยาว
บริษัทอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 จำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการอำนวยการ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและเลขานุการ จำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัท
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ฐานสมคบกันฉ้อโกง โดยกล่าวว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงข้อความเท็จต่อบริษัท 2 ครั้งว่า เป็นผู้หาผู้เช่าทำเหมืองแร่ของบริษัทมีสิทธิได้รับค่านายหน้า 20 % จากเงินกินเปล่าที่ผู้เช่าชำระ จำเลยที่ 2 เสนอว่า ถูกต้องกับข้อบังคับควรจ่ายได้ และจำเลยที่ 3 สั่งว่า ถูกต้องแล้วจ่ายได้ ซึ่งทั้งนี้เป็นความเท็จ เพราะไม่มีระเบียบข้อบังคับเช่นนั้น ทำให้บริษัทจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 ไป
ศาลแขวงพระนครใต้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษาว่า กรณีไม่ใช่เรื่องฉ้อโกง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องฉ้อโกงบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้อง พิพากษายืน ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคต้น บัญญัติว่า “ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้” ในคดีนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท และทางบริษัทไม่ดำเนินคดีกับจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงเป็นผู้เสียหาย โดยเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียร่วมอยู่กับบริษัทอันเป็นนิติบุคคล จึงมีอำนาจที่จะนำคดีที่กรรมการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและทางบริษัทไม่ดำเนินคดีกับกรรมการขึ้นว่ากล่าวในโรงศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) ประกอบกับมาตรา 2(4) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169
ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องมีมูล แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัย นั้นเป็นข้อที่โจทก์โต้แย้งคำวินิจฉัยศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยทั้ง 3 เป็นกรรมการของบริษัทอาสาสงคราม ถึงแม้ว่าจำเลยได้สมคบกันกระทำการดังฟ้อง คือ เอาทรัพย์ของบริษัท ฯ ไปจริง ก็เรียกไม่ได้ว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้อื่นให้ส่งมอบทรัพย์นั้นให้ เพราะจำเลยเป็นผู้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาหรือครอบครองทรัพย์อยู่แล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง และการที่จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติการจ่ายเงินก็เป็นเรื่องจ่ายเงินซึ่งตนดูแลอยู่ให้แก่ตนเอง จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ไม่ได้อ้างบันทึกรายงานการประชุมของบริษัท ครั้งที่2/2498 มาแสดงว่า มิได้มีระเบียบข้อบังคับให้จ่ายเงิน โจทก์จึงนำสืบไม่ได้ว่าความข้อนี้เป็นเท็จ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นผู้หาผู้รับเหมาให้บริษัทก็มิใช่ความเท็จ ฟ้องจึงไม่มีมูลความผิด นั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยก็ตาม ศาลฎีกาสมควรที่จะวินิจฉัยให้เสร็จไป ไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเกี่ยวกับข้อที่หาว่าจำเลยสมคบกันฉ้อโกงเงินนั้น เมื่อเป็นเงินจำนวนเดียวกันและผู้ถือหุ้นของบริษัทคนหนึ่งได้ฟ้องจำเลยที่ 1 จนคดีถึงที่สุดไปแล้ว แม้จะฟ้องอ้างฐานความผิดต่างกันอย่างไร ก็ต้องถือว่า ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่หาว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำขึ้นเกี่ยวกับเงินจำนวนนี้แล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) และเท่าที่ปรากฏในการไต่สวนมูลฟ้องก็ไม่มีมูลจะฟังว่าจำเลยที่ 2-3 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ส่วนฟ้องข้อ ข. เกี่ยวกับหาว่าจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงเงิน 28,800 บาทนั้น ก็อาจมีมูลได้ เพราะโจทก์ฟ้องว่า ได้เอาไปโดยหลอกลวงด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อบริษัทว่าเป็นนายหน้าหาผู้เช่าทำเหมืองมาให้บริษัทมีสิทธิได้ค่าตอบแทนตามมติของคณะกรรมการ เป็นเหตุให้บริษัทจ่ายเงินนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และบริษัทนี้อาจได้แก่ประธานกรรมการตามที่พออนุมานได้จากคำบรรยายฟ้อง โจทก์นำสืบว่าไม่มีระเบียบข้อบังคับให้จ่ายได้ แม้จะไม่อ้างรายงานการประชุมมาเป็นพยานจะฟังเอาว่า ไม่มีมูลเสียทีเดียวหาควรไม่ อีกประการหนึ่งโจทก์สืบว่า ดร.โชติ คุ้มพันธ์ เป็นผู้จัดหาผู้รับเหมาทำเหมืองแร่ให้มาพบกับจำเลยที่ 1 ที่บ้าน แล้วจึงทำสัญญารับเหมากัน จึงมีมูลว่า การที่จำเลยที่ 1 แสดงตนว่าเป็นนายหน้าหาผู้รับเหมามาเองนั้น อาจเป็นเท็จก็ได้
พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาตามฟ้อง ข้อ ก. ส่วนฟ้องข้อ ข. ซึ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเท่านั้น คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้