คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าการที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าไม้สักแปรรูปแก่โจทก์ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันจะพึงได้รับอีกวันละ10,000บาทเป็นกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยต้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์ดังกล่าวแต่อย่างใดคงนำสืบแต่เพียงว่าเหตุที่โจทก์เรียกค่าเสียหายวันละ10,000บาทเพราะไม้สักแปรรูปเป็นไม้ราคาแพงจำเลยนำออกขายตามท้องตลาดได้ถึงคิวบิกเมตรละ30,000บาทเศษเท่านั้นซึ่งหาใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยสั่งซื้อไม้แปรรูปของประเทศปาปัวนิวกินีจากโจทก์ ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์2534 จำเลยได้สั่งซื้อไม้สักแปรรูปของประเทศปาปัวนัวกินีจากโจทก์อีกจำนวน 200 คิวบิก เมตร โดยออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงิน 4,200,000 บาท โดยโจทก์ได้สั่งให้บริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศปาปัวนิวกินีจัดการส่งไม้สักแปรรูปจากประเทศดังกล่าวมายังกรุงเทพมหานครรวมราคาไม้สักแปรรูปทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,034,906 บาท หลังจากที่ไม้สักแปรรูปมาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการตามพิธีการศุลกากรและจัดส่งไม้สักแปรรูปไปให้แก่จำเลยณ ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งเป็นที่เก็บไม้ของจำเลยครบตามจำนวนหลังจากวันที่ 19 ตุลาคม 2534 อันเป็นวันที่โจทก์ส่งไม้ให้แก่จำเลยแล้ว 90 วัน โจทก์ได้ขอรับเงินค่าไม้สักแปรรูปตามราคาที่ตกลงกัน แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินอีก จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วไม่ยอมชำระโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 3,034,906 บาท ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2534ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 เป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนรวมเป็นเงินดอกเบี้ย 246,586 บาท และขอคิดค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่ยอมชำระเงินค่าไม้สักแปรรูปทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันพึงจะได้รับอีกวันละ 10,000 บาทนับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2534 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535เป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน หรือ 396 วัน เป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,960,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด7,241,492 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน7,241,492 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขายไม้สักแปรรูปตามฟ้องให้แก่จำเลย การซื้อขายไม้สักแปรรูปดังกล่าวจำเลยติดต่อตกลงกับบริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัดโจทก์เป็นเพียงผู้จัดส่งไม้สักแปรรูปแทนบริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัด จำเลยมิได้ผิดสัญญาซื้อขายและก็ไม่ได้ค้างชำระค่าไม้สักแปรรูปแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยใช้สิทธิไม่สุจริต กล่าวคือ โจทก์ได้จัดส่งไม้ที่จำเลยสั่งซื้อจากบริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัด ให้แก่จำเลยปรากฏว่าเป็นไม้ประเภทอื่น ไม่ใช่ไม้สักแปรรูป ลักษณะก็ไม่ตรงกับที่จำเลยได้สั่งซื้อ จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์และบริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัด ทราบ และให้มานำไม้เหล่านั้นกลับคืนไป แต่บริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัดขอฝากเก็บไม้เหล่านั้นไว้ก่อนเนื่องจากไม่มีที่เก็บและขอให้จำเลยรับซื้อไว้บ้างในราคาที่ได้ตกลงกันใหม่จำเลยตกลงรับซื้อไม้ไว้บางส่วนเล็กน้อย ส่วนไม้ที่เหลือให้บริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัด และโจทก์รับกลับคืนไปบริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัด รับว่าจะมาขนไม้กลับคืนไปแต่เพิกเฉย ค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าขาดประโยชน์วันละ 10,000 บาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์มิได้ขาดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งค่าเสียหายดังกล่าวจำเลยก็มิอาจคาดหมายได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2534 เพราะโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากจำเลยได้ต่อเมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่โจทก์ได้ส่งไม้ให้แก่จำเลย วันที่ 19 ตุลาคม 2534 จึงมิใช่วันผิดนัดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,034,906 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่18 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 246,586 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายบรรจง เจาชัยเจริญกุลได้เสนอขายไม้สักแปรรูปแก่จำเลยตามใบเสนอราคาเอกสารหมายจ.4 และจำเลยได้ต่อรองให้ลดราคาลงตามเอกสารหมาย จ.5จากนั้นจำเลยได้ตกลงซื้อไม้ตามที่ได้เสนอขายดังกล่าวโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้ออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตตามคำขอของจำเลยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จำนวนเงิน4,200,000 บาท เพื่อชำระค่าไม้สักตามใบแจ้งรายการสินค้าเลขที่ อีจีไอ-01/91 ลงวันที่ 5 มกราคม 2534 ตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 และโจทก์ได้ดำเนินการด้านศุลกากรและด้านด่านป่าไม้กรุงเทพมหานครนำไม้ตามใบแจ้งรายการสินคัา ดังกล่าวซึ่งส่งมาจากประเทศปาปัวนิวกินีส่งมอบแก่จำเลย ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินอากรขาเข้าและใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.8และ จ.9
คดีมีปัญหาตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า จำเลยได้ตกลงซื้อไม้สักแปรรูปรายพิพาทจากโจทก์และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงซื้อไม้รายพิพาทจากโจทก์ที่จำเลยนำสืบว่าผู้ขายไม้สักแปรรูปแก่จำเลยคือบริษัทเกียรติชัยปาปัวนิวกินี จำกัด ไม่ใช่โจทก์ยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้เมื่อโจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาซื้อขายไม้ดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ฎีกาข้อต่อไปของโจทก์ที่ว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายไม้สักแปรรูปตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียงใด เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย จึงฟังว่าโจทก์ส่งมอบไม้สักตามฟ้องแก่จำเลย เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระราคาไม้สักแก่โจทก์จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายไม้สักแปรรูป และต้องรับผิดชดใช้ราคาไม้สักดังกล่าวตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2535 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาชำระหนี้หลังจากส่งมอบไม้แล้ว 90 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาในเรื่องค่าเสียหายว่า เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าไม้สักแปรรูปแก่โจทก์ตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินวันละ 10,000 บาท เป็นค่าเสียหายตามปกติที่ย่อมเกิดขึ้นเพราะการไม่ชำระหนี้ของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย ดังกล่าวจากจำเลยได้เห็นว่า ข้อนี้โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า การที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าไม้สักแปรรูปแก่โจทก์ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันจะพึงได้รับอีกวันละ 10,000 บาท เป็นกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยต้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษที่เห็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์ดังกล่าวแต่อย่างใด คงนำสืบแต่เพียงว่าเหตุที่โจทก์เรียกค่าเสียหายวันละ 10,000 บาท เพราะไม้สักแปรรูปเป็นไม้ราคาแพง จำเลยนำออกขายตามท้องตลาดได้ถึงคิวบิก เมตรละ 30,000 บาทเศษ เท่านั้น ซึ่งหาใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share