คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่1ขณะที่ พ. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 อยู่แล้ว เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสและเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และ 1496 โจทก์คงเป็นภริยาของ พ. แต่ผู้เดียวเดิมที่พิพาทมีชื่อพ. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับบิดาก่อนสมรสกับโจทก์จึงเป็นสินเดิมของ พ. กึ่งหนึ่ง ซึ่งตกเป็นสินส่วนตัวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ อีกกึ่งหนึ่ง พ. ได้รับมรดกของบิดาหลังสมรส จึงตกเป็นสินสมรสของโจทก์และ พ. สามีเมื่อที่พิพาทเป็นสินสมรสและสินส่วนตัวจึงเป็นสินบริคณห์ตาม มาตรา1462 เดิม สิ่งปลูกสร้างบนที่พิพาทย่อมตกเป็นส่วนควบ พ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้จำเลยทั้งห้า ต้องถือว่าโจทก์ยินยอมให้ขาย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่66695 ถึง 66702, 66687, 66691 ถึง 66693, 2780 ระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 91701, 91705, 81709, 61363, 61369 ระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 91708 ระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 91702, 91703, 91704 ระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ นอกจากนั้นให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้และการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียด้วย หากจำเลยทั้งห้ามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าไม่สามารถเพิกถอนการจดทะเบียนได้ก็ให้จำเลยทั้งห้าแต่ละคนใช้เงินคนละจำนวนแก่โจทก์ในฐานะเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนาวาเอกหลวงพินิจกลไก จำเลยทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยโจทก์และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกต่างมีสินเดิมมีบุตรที่ยังมีชีวิตด้วยกัน 5 คน ประมาณปี พ.ศ. 2489 ถึง 2491 นาวาเอกหลวงพินิจกลไกและจำเลยที่ 1 อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาประมาณ 30 ปี และจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 เดิมนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2780 รายพิพาทร่วมกับนายบัวผู้เป็นบิดา ที่ดินดังกล่าวถูกแบ่งแยกออกไปหลายครั้งจนที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2468 เหลือเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 96 เศษ 7 ส่วน 10 ตารางวา พ.ศ. 2492 นาวาเอกหลวงพินิจกลไกรับโอนมรดกส่วนของนายบัวในที่ดินดังกล่าวเป็นของตนทั้งโฉนด นาวาเอกหลวงพินิจกลไกแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวออกเป็น 36 โฉนด แล้วให้บุคคลภายนอกปลูกสร้างตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างขึ้นบนที่ดินบางแปลงจำเลยทั้งห้าอ้างหนังสือมอบอำนาจของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาพร้อม สิ่งปลูกสร้างรวม 13 แปลง โอนขายให้จำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 5 แปลงและโอนขายให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 แปลง โอนขายให้จำเลยที่ 2ที่ 4 และที่ 5 พร้อมสิ่งปลูกสร้างคนละ 1 แปลง เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2521 วันที่ 19 พฤษภาคม 2521 วันที่ 30 มิถุนายน 2521 วันที่ 28 กรกฎาคม 2521 และวันที่ 1 สิงหาคม 2521 โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอม นาวาเอกหลวงพินิจกลไกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2521

ปัญหาจะต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์จะขอเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หาและการขายที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งห้ากระทำหรือขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ราคาได้หรือไม่ จำเลยทั้งห้าฎีกาข้อแรกว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง โจทก์มีนายสุรินทร์ สุวรรณสโรชผู้รับมอบอำนาจและเป็นบุตรของโจทก์ และนายธวัชชัย เอกภูมิ เป็นพยานว่าโจทก์ลงนามมอบอำนาจในหนังสือนั้นในขณะโจทก์มีสติสัมปชัญญะดี จำเลยไม่มีพยานนำสืบหักล้าง ดังนี้ แม้ตัวโจทก์จะมิได้เบิกความรับรองและไม่มีเจ้าหน้าที่ทางราชการรับรอง จำเลยทั้งห้ามิได้ให้การคัดค้านว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิได้เป็นของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจย่อมสมบูรณ์

ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อต่อไปว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมิใช่สินสมรสหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายจนถึงวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว การสมรสของโจทก์และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกจะขาดจากกันก็ด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏมีพฤติการณ์เช่นนั้น โจทก์กับนาวาเอกหลวงพินิจกลไกจึงยังเป็นคู่สมรสกันอยู่ การที่นาวาเอกหลวงพินิจกลไกจะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่นาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่แล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสและเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1452 และมาตรา 1496 โจทก์คงเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกแต่เพียงผู้เดียว ปรากฏว่าเดิมที่ดินพิพาทมีชื่อนาวาเอกหลวงพินิจกลไกถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายบัวผู้เป็นบิดาตั้งแต่ก่อนที่นาวาเอกหลวงพินิจกลไกจะสมรสกับโจทก์ จึงถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินเดิมของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งนาวาเอกหลวงพินิจกลไกได้รับมรดกของนายบัวเมื่อ พ.ศ. 2492 ซึ่งอยู่ในระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับโจทก์เป็นสามีภริยากันย่อมตกเป็นสินสมรสของโจทก์และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 ให้ถือว่าสินเดิมตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมของฝ่ายใดเป็นสินส่วนตัวตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ดังนั้น ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นสินเดิมของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีมาก่อนสมรสจึงตกเป็นสินส่วนตัวในคดีนี้

ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมและขอให้ชดใช้ราคาที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องได้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียว ให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวของตนด้วย เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสและสินส่วนตัว (สินเดิมตามบรรพ 5 เดิม) จึงเป็นสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นส่วนควบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกทำหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้จำเลยทั้งห้า จึงต้องถือว่าโจทก์ยินยอมให้ขายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คงเหลือปัญหาว่าการขายนั้นไม่สุจริตตามฟ้อง กล่าวคือฐานะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากไม่ได้ประกอบอาชีพ ไม่มีรายได้ทางอื่น ต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไก การซื้อขายกระทำเพื่ออำพรางการให้โดยเสน่หา โดยจำเลยทั้งห้าสมคบกันยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอันเป็นสินสมรสของโจทก์ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้าหรือไม่ พิเคราะห์แล้วจำเลยทั้งห้าจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต้องสันนิษฐานว่ากระทำการโดยสุจริต โจทก์มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้าดังกล่าวโจทก์มีนายสุรินทร์ สุวรรณสโรช ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ มีนิสัยเป็นนักการพนัน ชอบดื่มสุรา สูบบุหรี่ จำเลยที่ 1 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกเป็นเงิน 2,000,000 บาท โดยเอาเงินค่านายหน้าและยืมจากน้องชายมาซื้อเห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบยืนยันตลอดมาว่าโจทก์กับนาวาเอกหลวงพินิจกลไกทิ้งร้างจากเป็นสามีภริยากันมาประมาณ 40 ปีแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมาประมาณ 30 ปี และจดทะเบียนสมรสกันในปี พ.ศ. 2520 ก่อนมีการซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าว จำเลยที่ 1 เชื่อตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตลอดมาว่าเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นภริยาจะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกซึ่งถือว่าเป็นสามี การซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับนาวาเอกหลวงพินิจกลไกจึงเชื่อไม่ได้ว่าขายกันจริง ชอบที่โจทก์จะฟ้องขอเพิกถอนเสียได้ เฉพาะการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ร่วมเป็นผู้ซื้อกับจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.33 ให้เพิกถอนเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับนาวาเอกหลวงพินิจกลไก โจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่สุจริต ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซื้อโดยทราบว่าเป็นสินบริคณห์ของโจทก์และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกนั้น เห็นว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีอำนาจขายสินบริคณห์โดยชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยมาแล้ว เมื่อโจทก์สืบไม่ได้ว่าไม่มีการซื้อขายกันจริงตามฟ้องย่อมต้องฟังว่าเป็นการซื้อขายโดยชอบ ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซื้อโดยไม่สุจริต ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทที่จำเลยที่ 1 อ้างหนังสือมอบอำนาจของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกจดทะเบียนให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โจทก์ขอเพิกถอนได้หรือไม่จำต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473(3) เดิม ประกอบด้วยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 คือเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือไม่ หรือว่าการให้สินบริคณห์โดยเสน่หาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีซึ่งสามีทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473(3) นั้น ผู้ได้รับการยกให้ต้องมีความสัมพันธ์หรือมีฐานะชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ผู้รับให้เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ได้รับการให้ที่ยกเว้นตามมาตรานี้ โจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้และการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เฉพาะส่วนของ จำเลยที่ 1 ถ้าไม่สามารถเพิกถอนการจดทะเบียนได้ก็ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 3,638,000 บาท แก่โจทก์ ในฐานะเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนาวาเอกหลวงพินิจกลไก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับทั้งสามศาล”

Share