แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ย่อมรวมถึงการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองด้วย เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด มีน้ำหนัก 1.72 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธ์ได้ 0.517 กรัม ต้องด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย…(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป…” ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด ถือว่าเป็นการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงมิใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ทั้งไม่ใช่กรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคท้าย แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมิได้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมา ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษในความผิดดังกล่าวได้
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1 เพิ่มโทษจำเลยและนับโทษจำคุกต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 6 ปี และปรับ 600,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในการกักขังแทนค่าปรับให้กักขังแทนเป็นระยะเวลาไม่เกินสองปี ให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2575/2548 และหมายเลขแดงที่ 846/2549 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่นางสาวเพชรลัดดาหรือหลินหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด ให้แก่นางสาวเพชรลัดดา แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่นางสาวเพชรลัดดาเพื่อให้นำไปจำหน่ายแก่นายวราพงค์ ดังนี้ ระหว่างจำเลยกับนางสาวเพชรลัดดาต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง หาใช่เป็นการให้อันจะถือว่าเป็นการจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงชอบด้วยข้อกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ดีการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ย่อมรวมถึงการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองด้วย เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด มีน้ำหนัก 1.72 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.517 กรัม ต้องด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย… (2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป” ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด ถือว่าเป็นการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงไม่ใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ทั้งไม่ใช่กรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ศาลก็ย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะไม่ได้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ฎีกาของโจกท์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังแทนเป็นระยะเวลาไม่เกินสองปี ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2575/2548 และหมายเลขแดงที่ 846/2549 ของศาลชั้นต้น ยกคำขอให้เพิ่มโทษ