คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขออนุญาตปลูกเรือนพิพาทในที่วัดโดยตกลงกับวัดไว้ตามความตอนหนึ่ง ในหนังสือของโจทก์ที่มีไปถึงวัดดังนี้ ” บ้านพักซึ่งหม่อมฉันปลูกไว้ในที่ดินขออาศัยนี้ หากหม่อมฉันเป็นตายร้ายดีลง หรือจะอยู่ในที่นั้นไม่ได้ต่อไป ก็ขอน้อมถวายให้เป็นสมบัติของวัดพระมหาธาตุต่อไปด้วย” เช่นนี้ย่อมเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนาโดยชัดแจ้งว่าให้สิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นส่วนควบกับที่ดินจะไม่รื้อถอนเอาไป เรือนพิพาทย่อมตกได้แก่เจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 109 ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่พอใจอยู่บ้านนั้นต่อไปแล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิรื้อถอนเรือนไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้อาศัยปลูกเรือนในที่วัดสิงห์ (วัดร้าง) ตำบลในเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ปกครองวัดสิงห์โจทก์จ้างช่างปลูกเป็นเงิน 20,000 บาท ต่อมาโจทก์ไม่พอใจอยู่จึงออกไปและได้ให้คนไปรื้อ จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่ให้จับกุมผู้รื้อ เป็นเหตุให้การรื้อต้องสะดุดหยุดลง ตัวเรือนกรำแดดกรำฝน โจทก์ไม่สามารถจะรับคืนมาในสภาพปกติ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าเรือนพิพาทเป็นของโจทก์และให้จำเลยใช้ราคาเรือน 20,000 บาท โดยให้จำเลยรับเอาเรือนไป

จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ได้ขอปลูกเรือนพิพาทในที่วัดจริง แต่ได้ตกลงให้สัญญาว่าหากโจทก์ตายหรือจะอยู่ในที่ไม่ได้ต่อไปก็ขอถวายบ้านพัก (เรือนพิพาท) ให้เป็นสมบัติของวัดพระมหาธาตุ ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองวัดสิงห์และเป็นเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุจึงยอมตกลง โจทก์แสดงเจตนาให้เรือนพิพาทเป็นสมบัติของวัดมาแต่ต้นแล้ว

คู่ความต่างไม่ติดใจสืบพยานบุคคล ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินตามฟ้องคำให้การและพยานเอกสารตามคำรับที่ส่งศาล

ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาคงมีแต่เพียงว่าเรือนพิพาทนี้เป็นของโจทก์หรือของวัด ได้ความว่าเรือนพิพาทโจทก์ปลูกในที่ดินของวัดโดยวัดยินยอมอนุญาตเพราะโจทก์ตกลงว่า “บ้านพักซึ่งหม่อนฉันปลูกไว้ในที่ดินที่ขออาศัยนี้ หากหม่อมฉันเป็นตายร้ายดีลง หรือจะอยู่ในที่นั้นไม่ได้อีกต่อไปก็ขอน้อมถวายให้เป็นสมบัติของวัดพระมหาธาตุต่อไปด้วย” ฉะนี้เป็นการแสดงออกซึ่งเจตนาโดยชัดแจ้งว่าให้สิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นส่วนควบกับที่ดินจะไม่รื้อถอนเอาไปวัดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินย่อมเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้นตามหลักส่วนควบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 กรณีไม่มีทางที่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 109 โจทก์ไม่มีสิทธิจะรื้อถอน

พิพากษายืน

Share