คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9327/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้จ่ายเงินให้ ช.5,000 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยนั้นหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญาให้ไม่ เพราะเป็นการนำสืบให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้นั้นเป็นการให้ในสิ่งที่มีค่าภารติดพันจำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ โจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยมีค่าภารติดพันโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้เพราะต้องห้ามถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2522 โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ เนื้อที่ 3 ไร่19 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1803 ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา หลังจากนั้นจำเลยแบ่งแยกที่ดินออกจากโฉนดที่ดินฉบับเดิมเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 40118 เลขที่ดิน6 ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกต่อมาเดือนพฤษภาคม 2535 จำเลยประพฤติเนรคุณ โดยกล่าววาจาหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงต่อหน้าบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์ได้รับความอับอาย เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกให้ดังกล่าวและจดทะเบียนกลับคืนเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง หากไม่สามารถโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ราคาเป็นเงิน 80,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยมีค่าตอบแทน จำเลยมิได้ประพฤติเนรคุณและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงจำเลยได้ขายที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วโดยสุจริตและเปิดเผยที่ดินพิพาทมีราคา60,000 บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางเหลี่ยม ดีอ่ำ มารดาโจทก์เมื่อนางเหลี่ยมตายโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางเหลี่ยมส่วนที่ตกแก่โจทก์มาเป็นของโจทก์ตามที่ปรากฏในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1และหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หาหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาแล้วโจทก์จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยเสน่หาโดยไม่มีเงื่อนไขหรือให้จำเลยออกเงินค่าตอบแทนในการให้นี้เลย เพราะหากจำเลยได้จ่ายเงิน5,000 บาท ให้เป็นการตอบแทนแล้ว การโอนที่ดินพิพาทจากกองมรดกคงโอนให้จำเลยไปเสียเลยโดยไม่จำเป็นต้องโอนให้โจทก์ การโอนที่ดินพิพาทมาให้โจทก์ก่อนแล้วต่อมาโจทก์จึงโอนให้จำเลยเช่นนี้แสดงว่าเป็นการให้โดยเสน่หาโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมี ค่าภารติดพัน แต่อย่างใด เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า “เมื่อนางเหลี่ยมถึงแก่กรรมแล้วบรรดาลูกของนางเหลี่ยมจึงได้ตกลงแบ่งแยกที่ดินที่ นางเหลี่ยมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ การแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวนั้นมีนายรวย นายจืด นายชื้น และนายสมานเป็นผู้ดำเนินการ โดยนายชื้นบอกว่าหากใครต้องการรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวนี้จะต้องเสียเงินคนละ 5,000 บาท ข้าพเจ้าจึงได้บอกนายชื้นว่าข้าพเจ้าไม่มีเงินและไม่อยากได้ซึ่งขณะนั้นจำเลยได้ทราบข่าว จำเลยจึงได้นำเงินส่วนตัวจำนวน 2,000 บาท และจำเลยได้ขายความให้แก่นายสมานจำนวน 3,000 บาท รวม 5,000 บาท แล้วนำไปให้แก่นายชื้น นายชื้นจึงให้จำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินแปลงพิพาทหลังจากที่จำเลยได้รับโอนที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวมาแล้วต่อมาในปี 2524 จำเลยจึงได้นำที่ดินพิพาทดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินเป็นที่แปลงใหม่” ตามคำเบิกความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทก็เพื่อยกให้จำเลย เพราะเมื่อจำเลยได้นำเงิน 5,000 บาท ไปให้นายชื้นแล้วนายชื้นก็จัดการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ก็โอนที่ดินพิพาทให้จำเลย การที่โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเช่นนี้จึงเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนหรือมีค่าภารติดพันหาใช่เป็นการให้โดยเสน่หาโดยไม่มีค่าภารติดพันดังที่โจทก์อ้างไม่ และการที่จำเลยนำสืบว่าจำเลย ได้จ่ายเงินให้นายชื้น 5,000 บาทเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยนั้นหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่เพราะเป็นการนำสืบให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 นั้นเป็นการให้ในสิ่งที่มีค่าภารติดพันจำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้หรือไม่ เห็นว่าในประเด็นนี้ เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นข้างต้นแล้วว่าโจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยมีค่าภารติดพันแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้เพราะต้องห้ามถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535(2)คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นของโจทก์ต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share