คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2873/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องต่อจำเลยแจ้งการเกิดของโจทก์ที่ 1ที่เกิดจากมารดาคนต่างด้าว เพื่อให้จำเลยจดทะเบียนการเกิดออกหลักฐานการเกิดและเพิ่มชื่อนามสกุลของโจทก์ที่ 1 ในทะเบียนบ้านจำเลยได้รวบรวมเอกสารและพยานหลักฐานต่าง ๆ เสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาความล่าช้าของการดำเนินการเกิดจากการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เกิดจากเหตุที่จำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองตามระเบียบของทางราชการถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2525 โจทก์ที่ 2คนสัญชาติไทยจดทะเบียนสมรสกับนางเฮียน เลืองถิ คนสัญชาติญวนมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือโจทก์ที่ 1 ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน2527 ที่ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โจทก์ที่ 1 จึงมีสัญชาติไทย จำเลยเป็นนายทะเบียนราษฎร์อำเภอสว่างแดนดินจังหวัดสกลนคร โจทก์ที่ 2 แจ้งการเกิดของโจทก์ที่ 1 ใน 10 วันนับแต่เกิดต่อจำเลย ขอให้ออกหลักฐานการเกิดและเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 1 ในทะเบียนบ้านเลขที่ 297 หมู่ที่ 11 ตำบลสว่างแดนดินอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แต่จำเลยไม่จัดการให้ ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2529 โจทก์ที่ 2 แจ้งการเกิดและขอเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 1 ต่อจำเลยอีกครั้งหนึ่ง แต่เวลาล่วงเลยมาปีเศษจำเลยก็ไม่จดทะเบียนการเกิดและเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 1 ให้ อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้สัญชาติไทย ขอให้พิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยจดทะเบียนการเกิด ออกหลักฐานการเกิดและเพิ่มชื่อนามสกุลของโจทก์ที่ 1 ในทะเบียนบ้านเลขที่ 297
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 2 เป็นคนสัญชาติญวนไม่ใช่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเฮียน เลืองถิ คนสัญชาติญวน ทะเบียนสมรสเป็นเอกสารปลอมโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บุตรของโจทก์ที่ 2 กับนางเฮียนโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่คนสัญชาติไทยจำเลยไม่เคยปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนการเกิดให้กับโจทก์ที่ 2 ทั้งยังได้รวบรวมเอกสารต่าง ๆที่เกี่ยวข้องและเสนอความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 เพื่อเสนอความเห็นไปตามลำดับชั้นขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า นางเฮียน เลืองถิ คนสัญชาติญวนเป็นมารดาของโจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 2 อ้างว่าเป็นบิดาของโจทก์ที่ 1ได้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์ที่ 1 ต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนอำเภอสว่างแดนดิน แต่นายทะเบียนยังมิได้รับจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนอำเภอให้รับจดทะเบียนการเกิดและออกหลักฐานการเกิดพร้อมกับเพิ่มชื่อนามสกุลของโจทก์ที่ 1ในทะเบียนบ้านของโจทก์ที่ 2 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ได้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์ที่ 1ภายในกำหนดตามกฎหมายแล้วแต่นายทะเบียนไม่ยอมรับแจ้ง โดยอ้างเหตุว่านางเฮียนภริยาของโจทก์ที่ 2 เป็นคนสัญชาติญวน กับไม่ทำหลักฐานการรับแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองนั้น ปัญหาข้อนี้โจทก์ที่ 2 เบิกความแต่เพียงว่า ครั้งแรกที่ไปแจ้งหลังจากบุตรสาวของโจทก์ที่ 2 เกิดประมาณ 10 วัน ผู้รับแจ้งเป็นปลัดอำเภอจะชื่ออะไรจำไม่ได้ อ้างว่านางเฮียนภริยาของโจทก์ที่ 2เป็นคนสัญชาติญวนเท่านั้น คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 จึงเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานและเหตุผลที่จะรับฟังได้ ทั้งหลังจากนายทะเบียนปฏิเสธในครั้งนี้แล้ว ก็ไม่มีพฤติการณ์ใดของโจทก์ที่ 2 ที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้ไปดำเนินการอะไรต่อไป จนกระทั่งเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายไปแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งการเกิดของโจทก์ที่ 1ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสอง…
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2529อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องแจ้งการเกิดเกินกำหนดต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 1 ปี 4 เดือนชอบที่จำเลยจะต้องดำเนินการตามคำร้องให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยกลับนิ่งเฉยไม่ดำเนินการและไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คำร้องของโจทก์ที่ 2 ฉบับลงวันที่ 30มกราคม 2529 เป็นคำร้องแจ้งการเกิดของโจทก์ที่ 1 เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย ทั้งปรากฏตามคำร้องว่ามารดาของโจทก์ที่ 1 เป็นคนสัญชาติญวนหรือคนต่างด้าว กรณีเช่นนี้ มีระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร์กรมการปกครอง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์พ.ศ. 2499 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 234ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2515 ข้อ 63(5) ให้จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนรวบรวมเอกสารและพยานหลักฐานต่าง ๆ เสนอความเห็นผ่านตามลำดับชั้นให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา จำเลยก็ได้นำสืบแล้วว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวโดยได้มีหนังสือที่ สน. 0516/35ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 ตามเอกสารหมาย ล.5 ไปยังจังหวัดสกลนครเพื่อส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาคำร้องของโจทก์ที่ 2 ตามลำดับชั้น แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยจากทางจังหวัด การที่โจทก์ทั้งสองยังไม่ทราบผลดำเนินการนับจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปีเศษ หากจะถือว่าเป็นความล่าช้าก็เกิดจากการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย หาใช่เกิดจากเหตุที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้แก่โจทก์ทั้งสองตามระเบียบของทางราชการแต่อย่างใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองยกเอาเหตุนี้มาฟ้องจำเลยไม่ได้…”
พิพากษายืน.

Share