คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การและนำสืบพยานหลักฐานรับแล้วว่า การผลิตและส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงทุกต้นให้แก่โจทก์เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ประกอบกับก่อนการซื้อขายเสาเข็มพิพาทมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3568 (พ.ศ.2549) ให้ยกเลิกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า มีการยกเลิกการอนุญาตให้ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 แล้วกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 โดยกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าตามใบเสนอราคา/อนุมัติสั่งซื้อจะมิได้ระบุการซื้อขายเป็นการซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ก็ต้องตีความการซื้อขายนี้ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองขณะมีการทำสัญญา โดยมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการแสดงเจตนา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินมัดจำ เงินค่าสินค้า และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,024,248 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,937,760 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ชำระเงินแก่จำเลยทั้งสองจำนวน 1,011,251 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 946,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสองครบถ้วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,234,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ซื้อเสาเข็มคอนกรีต 468 ต้น และเพลท 468 แผ่น จากจำเลยที่ 1 และจ้างจำเลยที่ 1 ตอกเสาเข็ม 468 ต้น รวมเป็นเงิน 2,714,400 บาท โจทก์วางเงินมัดจำค่าสินค้าและบริการให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,085,760 บาท จำเลยทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ต่อมาระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จำเลยที่ 1 นำเสาเข็ม 64 ต้น เพลท 64 แผ่น ไปส่งมอบให้โจทก์ในสถานที่ก่อสร้าง โดยเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบแก่โจทก์มีสัญลักษณ์แสดงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 ขณะโจทก์ซื้อเสาเข็มจากจำเลยที่ 1 ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 และกำหนดมาตรฐานขึ้นใหม่เป็นมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3568 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 โจทก์รับและชำระค่าเสาเข็ม 64 ต้น และ เพลท 64 แผ่น ดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 352,000 บาท แล้ว ในปลายเดือนพฤษภาคม 2557 โจทก์พบว่าเสาเข็มที่คนงานจำเลยที่ 1 ตอกเกิดแตกหักร้าว ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2557 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประเด็นข้อแรกว่า การซื้อขายเสาเข็มระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง 468 ต้น เป็นการซื้อขายเสาเข็มที่มิได้ระบุว่าเป็นการซื้อขายเสาเข็มที่ต้องเป็นเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ดังนั้น เมื่อมีการตกลงซื้อขายดังเช่นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองส่งมอบเสาเข็มแล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาแล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การและนำสืบพยานหลักฐานก็รับแล้วว่า การผลิตและส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงทุกต้นให้แก่โจทก์เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ประกอบกับก่อนการซื้อขายเสาเข็มพิพาทมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3568 (พ.ศ.2549) ให้ยกเลิกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองยอมรับว่ามีการยกเลิกการอนุญาตให้ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 แล้วกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 โดยกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าตามใบเสนอราคา/อนุมัติสั่งซื้อจะมิได้ระบุการซื้อขายเป็นการซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ก็ต้องตีความการซื้อขายนี้ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองขณะมีการทำสัญญา โดยมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการแสดงเจตนา ข้อเท็จจริงจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้เป็นที่ยุติว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายเสาเข็มเป็นเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ฎีกาประเด็นข้อแรกของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประเด็นข้อสองว่า จำเลยทั้งสองส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ โจทก์มีนายศักดิ์สิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า พยานรับมอบหมายจากโจทก์ให้กำกับดูแลและชี้จุดที่จะตอกเสาเข็ม มิได้สั่งการหรือกำหนดวิธีการตอกเสาเข็ม เมื่อโจทก์เห็นว่าเสาเข็มที่คนงานของจำเลยที่ 1 ตอกลงดินแล้วแตกชำรุดหลายต้นและเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบมีมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 กับเพลทมีขนาดเล็กและบาง เสาเข็มตรงจุดเชื่อมต่อมีรอยแตกร้าว จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำแผ่นเหล็กบาง ๆ มาเชื่อมตำแหน่งที่ชำรุด โจทก์จึงขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบกำลังแรงอัดของเสาเข็มจำเลยที่ 1 ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และมีนายณรงค์เดช วิศวกรโยธาชำนาญพิเศษ ผู้ตรวจสอบและทำความเห็นมาเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อเจาะเสาเข็มนำตัวอย่างปูนมาทดสอบที่ห้องทดสอบของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำแท่งคอนกรีตซึ่งเก็บตัวอย่างมาเข้าเครื่องทดสอบเพื่อหากำลังอัดของคอนกรีตที่เก็บมาทั้ง 3 ตัวอย่าง มีค่ากำลังอัดเฉลี่ย 158.45 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร แต่มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 นั้น กำหนดให้คอนกรีตมีกำลังอัดไม่น้อยกว่า 350 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่นำมาทดสอบเห็นว่าค่ากำลังอัดของตัวอย่างต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของค่าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจึงทำความเห็นแจ้งไปยังโจทก์ นอกจากนี้นายรังสรรค์ พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นวิศวกรผู้ทำรายการคำนวณเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง (มอก.396-2549) ดูภาพถ่ายเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบแก่โจทก์แล้ว พยานเบิกความว่า เสาเข็มตามภาพไม่ใช่เสาเข็มที่มีมาตรฐานเลขที่มอก.396-2549 เนื่องจากไม่มีแผ่นเหล็กประกบโดยรอบ เมื่อนายณรงค์เดชและนายรังสรรค์เป็นพยานที่มิได้มีส่วนได้เสียในคดีเบิกความไปตามหลักวิชาและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้นว่าเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์ไม่ใช่เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ส่วนที่จำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ส่งมอบให้แก่โจทก์ แต่คนงานของจำเลยที่ 1 นำเลขที่ มอก.396-2524 ไปแสดงที่เสาเข็มด้วยความเข้าใจผิดนั้น เห็นว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีประกาศฉบับที่ 3568 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ยกเลิกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 ก่อนเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 7 ปี จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดความพลั้งเผลอตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความ และส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามีใบรับรองผลทดสอบกำลังอัดคอนกรีต นั้น เห็นว่า ใบรับรองดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นการรับรองการทดสอบกำลังอัดคอนกรีตโครงการก่อสร้างที่พิพาท และตามภาพถ่ายการทดสอบกำลังอัดคอนกรีตระบุวันที่ทดสอบแตกต่างจากวันทดสอบในใบรับรองดังกล่าว ทั้งใบรับรองดังกล่าวระบุว่าเป็นการทดสอบกำลังอัดคอนกรีต มาตรฐานเลขที่ มอก.409-2525 นอกจากนี้จำเลยทั้งสองมิได้นำนายสิงหา วิศวกรผู้ทดสอบและจัดทำเอกสาร มาเบิกความยืนยันความถูกต้องแท้จริงและเหตุแห่งความคลาดเคลื่อนของใบรับรองผลทดสอบกำลังอัดคอนกรีต และส่วนที่จำเลยทั้งสองมีนายรังสรรค์ มาเบิกความรับรองตามรายการคำนวณเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง (มอก.396-2549) แต่นายรังสรรค์กลับเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 มาขอให้พยานออกแบบเสาเข็ม ดังนั้น เอกสารจึงมิใช่การทดสอบกำลังอัดของเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ ฎีกาประเด็นข้อสองของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ซื้อเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 จากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองส่งมอบเสาเข็มที่มีมาตรฐานต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของมาตรฐานเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 จนเป็นเหตุให้เสาเข็มและเพลทที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์ในการตอกเสาเข็มในพื้นที่ก่อสร้างชำรุดเสียหายแตกหักร้าวจนไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ จำเลยทั้งสองจึงผิดสัญญาตามฟ้อง คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นฎีกาอื่นของจำเลยทั้งสอง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาตามฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันคืนเงินมัดจำ คืนเงินค่าเสาเข็มและคืนเงินค่าเพลทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองศาล ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share