คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยต่อเติมอาคารโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและขัดต่อข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ทั้งการต่อเติมอาคารดังกล่าวนั้น ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ และโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมแล้วตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 วรรคแรก การที่จำเลยไม่ระงับการต่อเติมและรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมตามคำสั่งของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคสามและวรรคสี่ได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารที่สร้างปกคลุมทางเดินถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อ ขอให้โจทก์เป็นผู้รื้ออาคารตามมาตรา 40, 41 และ42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า การดัดแปลงก่อสร้างอาคารตามฟ้องเป็นอาคารหลังอื่นไม่ใช่อาคารหลังของจำเลย การก่อสร้างอาคารด้านหลังของจำเลยไม่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76 (4) คำสั่งของโจทก์ที่ให้จำเลยระงับรื้อถอนอาคารไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 และ 42
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างปกคลุมทางเดินด้านหลังอาคาร หากจำเลยไม่รื้อให้โจทก์รื้อถอนได้โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ตามข้อนำสืบของคู่ความที่รับกันและการเดินเผชิญสืบอาคารตึกพิพาทของศาลชั้นต้นได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยเป็นเจ้าของอาคารตึกแถวเลขที่229/24 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 14244 ของจำเลย จำเลยได้ต่อเติมด้านหลังอาคารของจำเลยเต็มเนื้อที่ด้านหลังโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์ แต่เป็นการต่อเติมอาคารเพียงชั้นเดียว และส่วนของหลังคาครึ่งหนึ่งเป็นกระเบื้องลอนคู่ และอีกส่วนหนึ่งจำเลยได้กั้นเป็นลูกกรงเหล็ก เมื่อเดือนมิถุนายน 2524 จำเลยได้รับหนังสือจากผู้ช่วยหัวหน้าเขตยานนาวาฉบับหนึ่งแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและอีกฉบับหนึ่งแจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมจำเลยมิได้ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวทั้งสองฉบับ หลังจากนั้นจำเลยถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหาต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยให้การรับสารภาพศาลพิพากษาปรับจำเลย 2,000 บาท ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย สรุปได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทได้หรือไม่ในปัญหานี้ จำเลยฎีกาโต้แย้งเป็นข้อสำคัญว่า อาคารที่ต่อเติมตามฟ้องโจทก์เป็นอาคารเลขที่ 229/25 หาใช่อาคารของจำเลยไม่จึงบังคับให้จำเลยรื้อถอนไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมอาคารตึกแถว เลขที่ 229/24ซึ่งเป็นของจำเลย ไม่ใช่อาคารตึกแถวเลขที่ 229/25 แม้จะได้ความว่าจำเลยต่อเติมอาคารตึกแถวเลขที่ 229/24 เพียงชั้นเดียวจะถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยให้รื้อถอนอาคารที่ต่อเติมสองชั้นของอาคารตึกแถวเลขที่ 229/25 ซึ่งไม่ใช่ของจำเลย หาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางพิจารณาของศาลว่า จำเลยต่อเติมอาคารเพียงชั้นเดียวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 และเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(4) ซึ่งบัญญัติให้ต้องมีที่ว่างเป็นทางเดินด้านหลังอาคารโดยปราศจากสิ่งปกคลุมกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตรโจทก์โดยหัวหน้าเขตยานนาวา ปฏิบัติราชการแทนได้มีหนังสือที่กทม. 9005/6218 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 ให้จำเลยระงับการต่อเติมอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40ทั้งการต่อเติมอาคารของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง โจทก์ได้มีหนังสือที่ กทม.9005/6219 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 ให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมอาคารภายใน 30 วันนับแต่วันรับหนังสือนี้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคแรก จำเลยไม่ระงับการต่อเติมและรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมตามคำสั่งของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 วรรคสามและวรรคสี่ ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share