คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้เพื่อให้ผู้ต้องหาที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่บทบัญญัติของกฎหมายนี้เป็นกรณีที่กำหนดให้มีการดำเนินการก่อนฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ดังนั้น ไม่ว่ากระบวนการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ จะเป็นคุณแก่จำเลยเพียงใด บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เปิดช่องให้นำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ กับพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกและพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักมีอัตราโทษเท่ากันจึงลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษเพียงบทเดียว จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ซึ่งได้มีการกำหนดโทษแตกต่างจากกฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 และจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2546 จึงมิใช่กรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด อันจะต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ และที่จำเลยฎีกาขอให้ใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 บังคับแก่จำเลย เห็นว่า ตามบทบัญญัติของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความว่า ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีความในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ต้องหาที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่บทบัญญัติของกฎหมายเป็นกรณีที่กำหนดให้มีการดำเนินการก่อนฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วดังเช่นที่กล่างอ้างในฎีกาไม่ ด้วยเหตุนี้เองไม่ว่ากระบวนการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จะเป็นคุณแก่จำเลยเพียงใด บทบัญญัติของกฎหมายก็ไม่เปิดช่องให้นำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า บุคคลที่เสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้ทุกขณะ เพราะอาการมึนเมาเมทแอมเฟตามีนย่อมทำให้ขาดสติ ไม่สามารถใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถจึงถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง แม้การกระทำของจำเลยยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน แต่การลงโทษบางครั้งยังจำต้องกระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในอันที่จะเป็นการปกป้องประชาชนทั่วไปให้พ้นจากภยันตรายบนท้องถนนที่มักเกิดขึ้นจากผู้ขับขี่ที่เสพเมทแอมเฟตามีน ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษให้นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share