คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และบรรยายต่อมาว่าจนบัดนี้ผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายไปแล้ว ดังนั้น การที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ว่าไม่ทราบว่าผู้เสียหายเป็นตายร้ายดีอย่างไร โดยไม่ได้ความว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ และไม่ได้ยืนยันว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปแล้วจริงจึงมิใช่กรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2)แม้ผู้ร้องจะเป็นมารดาของผู้เสียหาย ก็ไม่อาจเข้ามาจัดการแทนผู้เสียหายโดยการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา309 วรรคสอง, 310, 83 จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของผู้เสียหาย ซึ่งหายออกไปจากบ้านและไม่กลับมาอีกเลย โดยไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรจึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เพื่อดำเนินคดีแทนผู้เสียหาย โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นของผู้ร้องด้วย จำเลยทั้งสองสำนวนแถลงคัดค้านศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองสำนวน ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5(2) บัญญัติให้ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ แต่จากคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ทั้งสองสำนวน ซึ่งผู้ร้องขอถือเอาเป็นคำฟ้องของผู้ร้องด้วย คงบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันพานางภาวิณีไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ โดยข่มขืนใจให้จำยอมอยู่ในบังคับและกระทำตามคำสั่ง มิฉะนั้นจะทำร้ายจนเป็นเหตุให้นางภาวิณีกลัว ต้องยอมอยู่ในบังคับ ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามคำฟ้องดังกล่าวไม่ได้ความว่านางภาวิณีถูกทำร้ายจนบาดเจ็บแต่อย่างใดส่วนที่ฟ้องบรรยายต่อมาว่า จนบัดนี้นางภาวิณีอาจถึงแก่ความตายไปแล้ว กับคำร้องของผู้ร้องที่ว่าไม่ทราบว่าผู้เสียหายเป็นตายร้ายดีอย่างไร ข้อความดังกล่าวไม่เป็นการยืนยันแน่นอนว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปแล้วจริง แม้ผู้ร้องจะเป็นมารดาของนางภาวิณีผู้เสียหาย ก็ไม่อาจเข้ามาจัดการแทนผู้เสียหายโดยเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้ เนื่องจากไม่อยู่ในบังคับของบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่ผู้ร้องฎีกาว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายแล้ว ลักพาเอาตัวไปกักขังไว้จนใช้สิทธิทางศาลไม่ได้ หากไม่ยอมให้บุพการีเข้าร่วมเป็นโจทก์ เพื่อดำเนินคดีแทนผู้เสียหายแล้วก็จะทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความคุ้มครอง เสียสิทธิ และไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นเห็นว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้าย กักขังเช่นว่านั้น เป็นเรื่องที่จะต้องแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการและพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลเช่นคดีนี้แล้วถ้าผู้ร้องมีเหตุผลเชื่อว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ผู้ร้องก็สามารถใช้สิทธิทางศาลโดยเป็นโจทก์ฟ้องเสียเองก็ได้ หาใช่ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอถือเอาคำฟ้องของพนักงานอัยการมาเป็นคำฟ้องของผู้ร้องโดยไม่ยืนยันว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายแล้วดังเช่นที่ผู้ร้องได้กระทำไปไม่ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share