คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยลักห่านซึ่งเป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรมไป ไม่ได้กล่าวว่าห่านนั้นเป็นผลิตภัณฑ์หรือสัตว์อันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมจึงยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335 (12)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ บังอาจลักเอาห่าน ๑ ตัว ราคา ๕๐ บาท ของนางกิมง้อ แซ่เฮง ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรม ไปโดยทุจริตและจำเลยที่ ๒ บังอาจรับห่านนั้นไว้จากจำเลยที่ ๑ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑๒) จำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๓๕๗
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ไม่ผิดตามมาตรา ๓๓๕ เพราะห่านที่จำเลยลักไปไม่ใช่สัตว์มีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ส่วนจำเลยที่ ๒ ผิดตามมาตรา ๓๕๗ ลดรับสารภาพตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ เดือน ๑๕ วัน จำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๑๒)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๑๒) นั้น นอกจากเจ้าทรัพย์จะต้องเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมแล้ว จะต้องได้ความอีกว่า ทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้น เป็นผลิตภัณฑ์พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้ประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมด้วย แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา ไม่ปรากฎว่าห่านที่จำเลยที่ ๑ ลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสัตว์ ซึ่งนางกิมง้อ แซ่เฮง เจ้าทรัพย์มีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมหรือไม่ ฉะนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๓๓๕ (๑๒) แห่งประมวลกฎหมายอาญา คดีไม่มีทางลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๓๓๕ (๑๒) ได้ พิพากษายืน

Share