คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมูลละเมิดแยกกันมาเป็นส่วนสัดในสำนวนเดียวกัน โดยโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์มามีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้เพียงโจทก์ที่ 2 ชนะคดี โดยยกฟ้องโจทก์ที่ 1 เสียด้วย ดังนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับสำหรับคดีเฉพาะโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์คันที่รับประกันภัยไว้แก่ผู้รับซ่อมไป เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยเพื่อประโยชน์ของเจ้าของรถยนต์ผู้เอาประกันภัย จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าซ่อมรถได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข.ก.๐๗๘๕๗ โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว โดยโจทก์ที่ ๓ เป็นผู้ขับขี่ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.ย. ๐๑๓๖๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๒ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ โดยประมาทชนรถยนต์คันอื่นพุ่งมาชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ ได้รับความเสียหายเสียค่าซ่อมรวมกับดอกเบี้ยเป็นเงิน ๓๗,๓๘๗ บาท โจทก์ที่ ๑ ออกเงินค่าซ่อมแซมไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิมาฟ้อง รถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ เสื่อมสภาพและโจทก์ที่ ๒ ต้องขาดรายได้ในการใช้รถรวมกับดอกเบี้ยเป็นเงิน ๕๓,๗๕๐ บาทและโจทก์ที่ ๓ ได้รับบาดเจ็บสาหัสเสียค่ารักษาพยาบาลกับค่าขาดประโยชน์รวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน ๑๕,๐๕๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่าโจทก์ที่ ๑ สมยอมจ่ายค่าซ่อมแซมรถไปโดยรู้ว่าไม่ต้องรับผิด จึงไม่ได้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่ผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุเกิดจากความประมาทของรถยนต์ฝ่ายโจทก์รถยนต์ของโจทก์เสียหายไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ซ่อมแล้วไม่เสื่อมสภาพและค่าขาดประโยชน์ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๓ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๑ แล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๓๔,๗๗๙ บาท และให้โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๒๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์ที่ ๓
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ เสียด้วย
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ที่ ๑ ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน ๓๗,๓๘๗ บาทซึ่งทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมูลละเมิดแยกกันมาเป็นส่วนสัดในสำนวนเดียวกัน เฉพาะโจทก์ที่ ๑ ฟ้องเรียกร้องมามีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ ๑ ชนะคดี โดยให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๓๔,๗๗๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับสำหรับคดีเฉพาะโจทก์ที่ ๑ จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
สำหรับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ ๑ นั้นโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสเมนท์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยมาฟ้องและโจทก์ที่ ๑ ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุวินาศภัยที่ได้เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ดังที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว และได้ความว่าบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสเมนท์ จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข.ก.๐๗๘๕๗ บริษัทเชสแมนฮันตตันอินเวสเมนท์ จำกัด จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข.ก.๐๗๘๕๗ การที่โจทก์ที่ ๑ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่น ช.ทวีผู้รับซ่อมไปเป็นเงิน ๓๔,๗๗๙ บาท เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาประกันภัย เพื่อประโยชน์ของบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสเมนท์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยจึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยทั้งสองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๓๔,๗๗๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share