คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำสร้อยคอทองคำของกลาง 6 เส้น มีน้ำหนักถึง317.5189 กรัมราคา 113,921.55 บาท ใส่ในกระเป๋าเสื้อนอกด้านในเพื่อนำออกนอกราชอาณาจักรทั้งที่จำเลยมีสร้อยคอทองคำสวมอยู่ที่คอแล้วเส้นหนึ่ง สร้อยคอของกลางจึงมิใช่เป็นของใช้ส่วนตัวและตามสมควรแก่ฐานานุรูป ตามความหมายของประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2514

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งกำลังจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปยังเกาะฮ่องกง ได้นำสร้อยคอทองคำอันเป็นของต้องจำกัดจำนวน ๖ เส้น รวมน้ำหนัก ๓๑๗,๕๑๘๙ กรัม ราคา ๑๑๓,๙๒๑.๕๕ บาท ติดตัวไปเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะพนักงานศุลกากรตรวจค้นพบสร้อยดังกล่าวเสียก่อน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๕, ๗, ๑๖,๐, ๒๔ พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๔, ๕ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ฯลฯริบของกลางและจ่ายรางวัล
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๕(๒), ๗ วรรคหนึ่ง, ๑๖,๒๐ วรรคหนึ่ง, ๒๔ พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๔, ๕ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๐ วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับเป็นเงิน ๓๗๙,๗๓๘.๕๐ บาท ริบของกลาง จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๒๐ วรรคสาม เป็นจำนวนร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยพยายามนำสร้อยคอทองคำ ๖ เส้นของกลางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่แจ้งให้พนักงานศุลกากรทราบ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า สร้อยคอของกลางน้ำหนักถึง ๓๑๗,๕๑๘๙ กรัม และราคา ๑๑๓,๙๒๑.๕๕ บาท ทั้งจำเลยยังมีสร้อยคอทองคำสวมอยู่ที่คอแล้วเส้นหนึ่ง สร้อยคอของกลางจึงมิใช่ของใช้ส่วนตัวและตามสมควรแก่ฐานานุรูป การส่งออกไปนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่จำเลยมิได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยเก็บสร้อยคอของกลางไว้ในกระเป๋าเสื้อนอกด้านในข้างซ้ายและขวาข้างละ ๓ เส้น เมื่อพนักงานศุลกากรสอบถามว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายหรือของมีค่าติดตัวไปด้วยหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่มีจนพนักงานศุลกากรต้องนำจำเลยเข้าไปตรวจค้นในห้องจึงพบสร้อยคอของกลางนั้น ถือได้ว่าจำเลยพยายามนำทองซึ่งเป็นของต้องจำกัดออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัด จำเลยจึงต้องมีความผิด
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๕, ๗, ๑๖, ๒๐, ๒๔ พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๔, ๕ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งถ้าจะปรับต้องปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของเป็นจำนวนเงิน ๔๕๕,๖๘๖.๒๐ บาท แต่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจะปรับจำเลยเกินคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้เพราะเป็นการเกินคำขอ จึงให้ปรับจำเลยเป็นเงิน ๓๗๙,๗๓๘.๕๐ บาท หากไม่ชำระค่าปรบให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด ๒ ปี ริบของกลาง กับจ่ายรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้ทำผิดร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด

Share