แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าปากคลองบางพระฯ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ.2492 ซึ่งต่อมาได้กลายสภาพมาเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 36 ก่อนที่จะออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 5,6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่าพ.ศ.2481ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้น กล่าวคือได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสำรวจสอบสวนเขตป่าที่จะจัดให้เป็นป่าคุ้มครองและปิดประกาศโฆษณาระบุท้องที่ซึ่งจะทำการสำรวจไว้ ณ ท้องที่ตามที่กฎหมายกำหนด ได้มีการประชุมชี้แจงต่อราษฎร มีราษฎรยื่นคำร้องคัดค้านหลายรายรวมทั้งบิดาโจทก์ด้วย ครั้นคณะกรรมการประกาศกำหนดวันที่จะดำเนินการสำรวจสอบสวนเขตป่า มีผู้ร้องมาให้การตามนัดบ้างไม่มาบ้าง ผู้ที่ไม่มานั้นปรากฏว่าหลายรายได้ตายไปแล้วและละเลยทอดทิ้ง ไม่ติดใจในสิทธิ แต่คณะกรรมการก็ได้แจ้งให้ผู้ร้องหรือทายาททราบอีก แต่บิดาโจทก์หรือตัวโจทก์ซึ่งอ้างว่าได้รับมรดกที่พิพาทมาครอบครองอยู่ขณะนั้น ไม่ไปให้คณะกรรมการทำการสอบสวน คณะกรรมการทำการสอบสวนเห็นสมควรให้คงอาศัยทำกินในเขตป่าคุ้มครองต่อไปตามเดิมก็มีและกันที่ดินของผู้ร้องออกจากป่าคุ้มครองก็มีส่วนรายใดที่ไม่ได้ให้คณะกรรมการทำการสอบสวนนั้นคณะกรรมการได้จัดที่ดินของบุคคลเหล่านั้นเข้าเป็นป่าคุ้มครอง แล้วรายงานเสนอเรื่องราวไปยังกระทรวงเกษตร จนรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าคุ้มครองประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อ พ.ศ.2492 แล้ว ดังนี้ โจทก์จะอ้างว่าที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าคุ้มครองดังกล่าวเป็นของบิดาโจทก์ซึ่งโจทก์ได้รับมรดกครอบครองมาเพื่อหักล้างกฎหมายหาได้ ไม่ แม้โจทก์จะได้แจ้งการครอบครองที่พิพาทไว้ก็เป็นเวลาภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่พิพาทเป็นป่าคุ้มครองแล้ว. จึงไม่ก่อให้สิทธิอย่างใดแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่กระทรวงเกษตรหรือบุคคลซึ่งได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรให้เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมบิดาโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1 แปลงเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน อยู่ที่ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ซึ่งนายอำเภอออกใบเหยียบย่ำให้บิดาโจทก์ตาย ตกทอดได้แก่โจทก์และโจทก์ครอบครองตลอดมาจนทุกวันนี้ รัฐได้ออกพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2492 เอาที่สวนของโจทก์เข้าอยู่ในเขตป่าคุ้มครองด้วย โดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อน และเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือประมงในที่ดินของโจทก์และบริเวณใกล้เคียง และจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินบางส่วนที่ได้รับอนุญาตให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง แล้วบริวารของจำเลยที่ 2, 3 ได้ตัดฟันต้นจากของโจทก์ และถมดินก่อสร้างโรงอุตสาหกรรมทำน้ำแข็งในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ พระราชกฤษฎีกาคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2492 ไม่กระทบกระเทือนถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินของโจทก์ หากกระทบกระเทือนถึงก็เป็นโมฆะให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไป ห้ามเข้าเกี่ยวข้อง และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่พิพาทที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์หรือบิดาไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ที่พิพาทเป็นป่าคุ้มครอง และตกเป็นป่าสงวนแห่งชาติส่วนในเรื่องค่าเสียหาย เชื่อว่าบิดาโจทก์เข้าครอบครองและเก็บผลประโยชน์จากต้นจากในที่พิพาทมาช้านานจนตกทอดถึงโจทก์สืบต่อมาจำเลยที่ 3 โดยอาศัยสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปทำลายต้นจากที่โจทก์เคยครอบครองเก็บผลประโยชน์มา จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 1,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าปากคลองบางพระ เกาะจ้าว เกาะลอยในท้องที่ตำบลวังกระแจะ ตำบลหนองเสม็ด และตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2492 ซึ่งได้กลายสภาพมาเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 36 แล้ว โดยก่อนที่จะออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นป่าคุ้มครองซึ่งกลายสภาพมาเป็นป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 5, 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้น กล่าวคือ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสำรวจสอบสวนเขตป่าที่จะจัดให้เป็นป่าคุ้มครองและปิดประกาศโฆษณาระบุท้องที่ซึ่งจะทำการสำรวจไว้ ณ ท้องที่ตามที่กฎหมายกำหนด ได้มีการประชุมชี้แจงต่อราษฎรตามเอกสารหมาย ล.9 ถึง ล.26 มีราษฎรยื่นคำร้องคัดค้านรวม 81 ราย ดังบัญชีรายชื่อตามเอกสารหมาย ล.10 ถึง ล.12 ซึ่งนายชิต เรืองประดิษฐ์ บิดาโจทก์ได้มีรายชื่อเป็นผู้ร้องคัดค้านไว้ในลำดับที่ 5 เอกสารหมาย ล.10 ครั้นคณะกรรมการได้ประกาศกำหนดวันที่จะดำเนินการสำรวจสอบสวนพิจารณาเขตป่ารายนี้ไว้ในระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 มกราคม 2491 มีผู้ร้องมาให้การตามนัดหมายของคณะกรรมการ 42 ราย ไม่มาให้การสอบสวน 39 ราย สำหรับผู้ร้องที่ไม่มาให้การสอบสวน 39 รายนั้น ปรากฏว่าผู้ร้องหลายรายได้ตายไปแล้วและละเลยทอดทิ้งไม่ติดใจในสิทธิ แต่คณะกรรมการก็ได้แจ้งให้ผู้ร้องหรือทายาททราบอีก คงมีผู้มาให้การสอบสวนหรือส่งตัวแทนมาให้ทำการสอบสวนอีก 24 ราย ส่วนอีก 15 รายรวมทั้งรายนายชิตบิดาโจทก์หรือตัวโจทก์ซึ่งอ้างว่าได้รับมรดกที่พิพาทมาครอบครองอยู่ขณะนั้น ไม่ไปให้คณะกรรมการทำการสอบสวนเลย ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ล.24 และ ล.27 คณะกรรมการทำการสอบสวนแล้ว เห็นสมควรให้คงอาศัยทำกินในเขตป่าคุ้มครองต่อไปตามเดิมก็มี และกันที่ดินของผู้ร้องออกจากเขตป่าคุ้มครองก็มี ส่วน 15 รายซึ่งไม่ได้ให้คณะกรรมการทำการสอบสวนนั้นคณะกรรมการได้พิจารณาจัดที่ดินของผู้ร้องเหล่านี้เข้าเป็นป่าคุ้มครองแล้วรายงานเสนอเรื่องราวไปยังกระทรวงเกษตร จนรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าคุ้มครองประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2492แล้ว ดังนี้ โจทก์จะอ้างว่าที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าคุ้มครองดังกล่าวเป็นของบิดาโจทก์ซึ่งโจทก์ได้รับมรดกครอบครองมาเพื่อหักล้างกฎหมายหาได้ไม่ ไม่จำต้องพิเคราะห์ว่าบิดาโจทก์หรือโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทมาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าคุ้มครองดังกล่าวหรือไม่ที่โจทก์นำสืบว่าได้แจ้งการครอบครองที่พิพาทไว้ตาม ส.ค.1 ที่โจทก์อ้างนั้น ก็เป็นเวลาภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่พิพาทเป็นป่าคุ้มครองแล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่พิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน