แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ทำการตัดฟันไม้ต่าง ๆที่ดินที่โจทก์ได้รับอนุญาตมิใช่ของเอกชน สัญญาการทำไม้ได้กำหนดขอบเขตหมวดและแปลงตัดฟันไม้ กำหนดเนื้อที่และกำหนดเวลาให้ทำการตัดฟันไม้ ส่วนใบอนุญาตก็ระบุชนิดไม้ ขนาดจำกัดและปริมาตรของไม้ อัตราค่าภาคหลวงต่อลูกบาศก์และค่าบำรุงป่า ฯลฯ ดังนี้ เห็นได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ให้อนุญาตเพียงแต่ยอมให้โจทก์ผู้รับอนุญาตมีสิทธิทำการตัดฟันไม้ในที่ดินป่าเลน ชนิดของไม้ที่จะทำการตัดฟันก็ดี กำหนดเวลาที่จะทำการตัดฟันในแต่ละแปลงก็ดี มีข้อจำกัดไว้แน่นอนที่ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ข้อสัญญายังกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการทำไม้ทุกประการ ถ้ากระทำผิดสัญญาและถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ให้อนุญาตเห็นสมควร จะเลิกสัญญานี้เสียก็ได้โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด ดังนี้ แสดงให้เห็นชัดว่าสัญญาการทำไม้ ฯลฯนี้เป็นแต่เพียงการให้สิทธิโจทก์เข้าไปตัดฟันเอาไม้เท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสองสำนวนผู้รับอนุญาตตามสัญญาเข้าไปทำการตัดฟันไม้ จึงหาเป็นการ ‘ครอบครองอยู่ใน’ ที่ดินป่าเลนตามความในมาตรา 1 แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ไม่ โจทก์ทั้งสองสำนวนจึงมิได้เป็น ‘เจ้าของที่ดิน’ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์ก็ไม่มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา 7และบทบัญญัติในเรื่องอุทธรณ์การประเมินภาษีบำรุงท้องที่ ก็ไม่เป็นบทบังคับแก่โจทก์ โจทก์ย่อมใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลล่างพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนยื่นฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองได้ตัดฟันเอาไม้ในป่าเลนตามที่ได้รับอนุญาต ในการที่โจทก์ตัดฟันไม้ดังกล่าวนี้ โจทก์ได้เข้าประมูลซื้อไม้ ต้องวางเงินประกันความผิดตามสัญญา ต้องเสียเงินค่าภาคหลวง และต้องเสียเงินค่าบำรุงป่า โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ตัดฟันเอาไม้บางชนิดเท่านั้นไม่ได้ถือสิทธิปกครองดูแลหรือถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ นายอำเภอเมืองพังงาได้แจ้งให้โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ป่าไม้เลนดังกล่าว โดยอ้างว่าโจทก์ได้ครอบครองถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของป่าไม้เลน จำเลยซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เป็นนายอำเภอเมืองพังงาได้ประกาศยึดที่นาของโจทก์สำนวนแรก 1 แปลงเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ของโจทก์สำนวนหลัง 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ เพื่อจะนำมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ป่าไม้เลนดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมายเรียกร้องให้โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ป่าไม้เลนรายนี้ และไม่มีสิทธิยึดที่นาของโจทก์มาขายทอดตลาด ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่ได้ถือสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของป่าไม้เลนตามฟ้องและไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายให้จำเลยถอนการยึดที่นาของโจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมาย หากโจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีไม่ถูกต้องโจทก์ก็ชอบที่จะอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานประเมิน ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติเช่นนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ
ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่รายนี้จากเจ้าพนักงานประเมินตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2509 โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาว่าถ้าโจทก์เห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาได้ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองสำนวนทำการตัดฟันไม้ต่าง ๆ ตามใบอนุญาตปรากฏตามสัญญาการทำไม้ป่าโครงการป่าเลน จังหวัดพังงา ที่ดินป่าเลนที่โจทก์ทั้งสองสำนวนได้รับอนุญาตให้ทำการตัดฟันไม้ตามสัญญาดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนสัญญาการทำไม้ ฯลฯ ได้กำหนดขอบเขตหมวดและแปลงตัดฟันไม้กำหนดเนื้อที่และกำหนดเวลาให้ทำการตัดฟันไม้ได้ 5 ปี ส่วนใบอนุญาตก็ระบุชนิดไม้ ขนาดจำกัด และปริมาตรของไม้ อัตราค่าภาคหลวงต่อลูกบาศก์เมตรของไม้ และค่าบำรุงป่าอีก 1 เท่า ค่าภาคหลวงที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และข้อกำหนดอนุญาตให้ทำไม้ได้ปีละ 1 แปลง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อได้พิเคราะห์ข้อความในสัญญาและข้อความในใบอนุญาต เห็นได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ผู้ให้อนุญาตเพียงแต่ยอมให้โจทก์ผู้รับอนุญาตมีสิทธิทำการตัดฟันไม้ในที่ดินป่าเลน ชนิดของไม้ที่จะทำการตัดฟันก็ดี กำหนดเวลาที่จะทำการตัดฟันในแต่ละแปลงก็ดีมีข้อจำกัดไว้แน่นอน ที่ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ข้อสัญญายังกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการทำไม้ทุกประการ ถ้ากระทำผิดสัญญาและถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาผู้ให้อนุญาตเห็นสมควรจะเลิกสัญญานี้เสียก็ได้ โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด ดังนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า สัญญาการทำไม้ ฯลฯนี้เป็นแต่เพียงการให้สิทธิโจทก์เข้าไปตัดฟันเอาไม้เท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสองสำนวนผู้รับอนุญาตตามสัญญาเข้าไปทำการตัดฟันไม้จึงหาเป็นการ”ครอบครองอยู่ใน” ที่ดินป่าเลนตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ไม่ โจทก์ทั้งสองสำนวนจึงมิได้เป็น “เจ้าของที่ดิน”ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์ก็ไม่มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา 7 และบทบัญญัติในเรื่องอุทธรณ์การประเมินภาษีบำรุงท้องที่ก็ไม่เป็นบทบังคับแก่โจทก์ โจทก์ย่อมใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ในกรณีนี้ ให้จำเลยถอนการยึดที่นาของโจทก์