แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บิดามารดายกที่นาให้แก่พระภิกษุ ข. ภายหลังที่พระภิกษุ ข.บวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระภิกษุ ข. ขายที่นาแปลงดังกล่าวและนำเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคาร เงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศเมื่อพระภิกษุ ข. ถึงแก่มรณภาพเงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ ข..(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2505 ในขณะที่พระภิกษุขำ หรือพระอธิการขำ เกสโร จำพรรษาประจำอยู่ที่วัดโจทก์พระภิกษุขำได้ขายที่นา 1 แปลง ซึ่งได้มาในขณะเป็นพระภิกษุ ครั้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2517 พระภิกษุขำได้นำเงินที่ขายที่นาได้จำนวน40,000 บาท ไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาพัทลุง โดยระบุให้ตนเองหรือจำเลยมีสิทธิถอนเงินได้ ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2525พระภิกษุขำถึงแก่มรณภาพที่วัดโจทก์ โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด เงินที่ฝากธนาคารไว้ดังกล่าวจึงตกเป็นสมบัติของวัดโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุขำตามคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ถอนเงินฝากดังกล่าวจากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน67,111.72 บาท โดยไม่ยอมมอบให้วัดโจทก์ ขอให้จำเลยส่งมอบเงิน67,111.72 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เงินตามฟ้องเป็นเงินที่พระภิกษุขำได้มาจากการขายที่นาซึ่งตกเป็นของพระภิกษุขำก่อนที่จะอุปสมบท แล้วนำไปฝากธนาคารโดยยกให้จำเลยเป็นค่าอุปการะจำเลยและญาติในการศึกษาเล่าเรียน เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากพระภิกษุขำมรณภาพแล้วเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 67,111.72 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (15 เมษายน 2528)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 66,408.26 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง(15 เมษายน 2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ตามสมุดทะเบียนประวัติภิกษุเอกสารหมายจ.4 (แผ่นที่ 3) ปรากฏว่า พระภิกษุขำเกิดเมื่อ พ.ศ. 2435 บวชเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2453 และบวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2455 อยู่ในสมณเพศเรื่อยมาจนกระทั่งมรณภาพแสดงว่าพระภิกษุขำบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 18 ปี ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่า บิดามารดาของพระภิกษุขำยกที่นาให้พระภิกษุขำตั้งแต่ก่อนพระภิกษุขำบวชเป็นสามเณรคือตั้งแต่ก่อนพระภิกษุขำอายุ 18 ปี จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้เพราะขณะนั้นพระภิกษุขำอายุยังน้อยและเป็นเด็กอยู่ เชื่อว่า บิดามารดาของพระภิกษุขำได้ยกที่นาดังกล่าวให้แก่พระภิกษุขำภายหลังจากพระภิกษุขำบวชเป็นพระภิกษุ คือภายหลังจากพระภิกษุขำอายุครบ 20ปีแล้ว จึงฟังได้ว่าพระภิกษุขำได้ที่นาดังกล่าวมาภายหลังจากบวชเป็นพระภิกษุแล้ว การที่ ส.ค. 1 ของที่นาดังกล่าวตามเอกสารหมายล.1 ระบุว่าพระภิกษุขำได้ที่นาดังกล่าวมาประมาณ 50 ปีนั้น ก็เป็นแต่เพียงประมาณเอาเท่านั้น ความจริงอาจได้มาไม่ถึง 50 ปี ก็เป็นได้ดังนั้นที่นาดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่พระภิกษุขำได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุขำขายที่นาดังกล่าวนำเงินไปฝากธนาคารเงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่พระภิกษุขำได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศด้วย เมื่อพระภิกษุขำถึงแก่มรณภาพที่วัดโจทก์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุขำเงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์…”
พิพากษายืน