แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เดิมทุกฉบับ และให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่มีระบุว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป แต่ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ดังนั้นขณะศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาคดีนี้การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ อีกต่อไป แต่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ,59, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 76 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำคุก 3 เดือน คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือนฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 5 ปี 2 เดือนริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ร้อยตำรวจโทประจักษ์ เจริญสลุงพลตำรวจจักรพรรดิ์ เมืองนิล และพวกจับจำเลยได้พร้อมกับเมทแอมเฟตามีนและกัญชาเป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของจำเลยและจำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจพบเป็นของจำเลย
อนึ่ง ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518เดิมทุกฉบับและให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งตามบัญชีประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่มีระบุว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไปแต่ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ดังนั้น ขณะศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาคดีนี้การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ทวิ อีกต่อไป แต่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย เพราะการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ แต่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 มีการยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้ในครอบครองต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษจึงเบากว่า ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเห็นควรกำหนดโทษจำเลยใหม่เพื่อความเหมาะสมด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 จำคุก 1 ปี 6 เดือนรวมโทษจำคุก 2 เดือน ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เป็น1 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2