แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าภาพยนตร์ตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุตามกฎหมายของบริษัทอ.กับบริษัทท. ประเทศฮ่องกงซึ่งได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ แต่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเลยว่ากฎหมายของเกาะฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญา ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการ ประกอบกิจการซื้อ ขาย ให้เช่าซ่อมแซม และติดตั้งแถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) อันเป็นโสตทัศนวัสดุ ใช้ชื่อสถานการค้าว่า บริษัทพี.เอ็น.เคเบิ้ลทีวี จำกัด เมื่อระหว่างวันที่28 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 เวลากลางวันและเวลากลางคืนติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2526 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันกระทำละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุของบริษัทเอเชียเทเลวิชั่น จำกัด กับบริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์จำกัด ประเทศฮ่องกง (ที่ถูกต้องเป็นเกาะฮ่องกง) ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ตามลำดับโดยบริษัทเอเชียเทเลวิชั่น จำกัด ได้แต่งตั้งให้บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิในประเทศไทย และบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัดได้อนุญาตให้บริษัทที.วี.อี. จำกัด เป็นผู้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุดังกล่าวแทน และโดยบริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์ จำกัด ได้แต่งตั้งบริษัทวีดีโอ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้มีสิทธิในประเทศไทยโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้นำเอาแถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ภาพยนตร์เรื่อง 8 ดรุณี สองสิงห์ตะลุยยุทธจักร แผ่นดินเลือด และกัลบกจอมวุ่นกับเรื่องมังกรหยก และลาก่อน 19 อันเป็นโสตทัศนวัสดุซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ของบริษัทเอเชียเทเลวิชั่น จำกัดกับบริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์ จำกัด ตามลำดับดังกล่าวมาทำการนำออกโฆษณา โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายโดยเสนอขายเสนอให้เช่าที่สำนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งนี้จำเลยทั้งสองได้กระทำการดังกล่าวเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทเอเชียเทเลวิชั่น จำกัด บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัดและบริษัทที.วี.อี. จำกัด กับบริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท์จำกัด และบริษัทเบสท์ วีดีโอ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์จำกัด ผู้เสียหายเหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา วันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 ได้พร้อมยึดแถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป)ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้นจำนวน8 ม้วน เป็นของกลางจำเลยทั้งสองนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 756/2527 ของศาลชั้นต้นขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 25, 42, 43, 46, 47 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอได้สั่งให้แถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และนับโทษจำเลยทั้งสองในคดีสองสำนวนนี้ต่อกันและต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 756/2527ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทเอเชียเทเลวิชั่นจำกัด โดยบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัดผู้รับมอบอำนาจ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัดบริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์ จำกัด โดยบริษัทเบสท์ วีดีโอ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้รับมอบอำนาจและบริษัทเบสท์ วีดีโอ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 25, 42, 43, 47ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับสำนวนละคนละ20,000 บาท คำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาคดีในศาลเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีเป็นอย่างมากซึ่งเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับจำเลยทั้งสองสำนวนละคนละ10,000 บาท รวมปรับคนละ 20,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้แถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์คดีนี้ศาลมิได้ลงโทษจำเลยถึงจำคุก ดังนั้น จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะให้นับโทษต่อตามคำขอของโจทก์แต่อย่างใด ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เสีย
จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงและรายละเอียดซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ต้องกล่าวในฟ้องจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)การที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนมานั้นไม่ชอบ เหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าภาพยนตร์ตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุตามกฎหมายของบริษัทเอเชีย เทเลวิชั่น จำกัด กับบริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์ จำกัดประเทศฮ่องกง ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเลยว่ากฎหมายของเกาะฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5)”
พิพากษายืน