คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แสดงว่าจำเลยมีเจตนาผูกพันตามนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ศาลมีอำนาจลดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 1 คันเป็นเงิน 334,416 บาท ชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 6,967 บาท รวม 48 งวดจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 3 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2526 จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองและใช้รถของโจทก์ตลอดมาถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2526 โจทก์จึงได้ยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อกลับคืน โจทก์ต้องเสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถออกให้เช่า 4 เดือน ค่าใช้จ่ายในการติดตามเอารถคืน ค่าเสียหายเนื่องจากรถที่ได้คืนมามีสภาพเสื่อมโทรมขายได้ราคาต่ำกว่าจำนวนค่าเช่าซื้อ รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 227,282 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง 80,000 บาทเท่ากับจำนวนหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2527ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 41,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 121,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 121,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงชื่อค้ำประกันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้เพราะถูกโจทก์หลอกลวงว่าให้ลงชื่อเป็นพยาน ขอให้ยกฟ้อง แต่จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 20,800 บาทและดอกเบี้ยให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองผิดสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน และโจทก์ได้ยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อกลับคืนแล้ว เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาผูกพันจะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 80,000 บาท ตามเอกสารหมายจ.7 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่จำเลยผิดนัดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นกรณีกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2530 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถามตามเอกสารหมาย จ.9 จึงชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14พฤศจิกายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share