คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง จึงขอเข้าเป็นจำเลยเพื่อรักษาสงวนสิทธิของผู้ร้องโดยจะยื่นคำให้การภายใน 8 วัน นับแต่ศาลสั่งอนุญาต ดังนี้เป็นเรื่องที่ผู้ร้องตั้งข้อพิพาทเข้ามาเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองสิทธิของตน เป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 58 ที่จะใช้สิทธิในทางขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม ดังนั้น แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิร้องสอดได้เมื่อคดียังไม่มีการสืบพยานศาลย่อมรับคำร้องไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์จะให้ชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่พิพาท และเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท คดียังไม่ได้สืบพยาน ผู้ร้องขอเข้าเป็นจำเลยเพื่อรักษาสงวนสิทธิของผู้ร้อง โดยจะยื่นคำให้การภายใน ๘ วันนับแต่วันศาลสั่งอนุญาต
โจทก์คัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องมิได้เสียค่าขึ้นศาลและบรรยายคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยคดีนี้จะยื่นคำให้การภายใน ๘ วัน แสดงว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๒) เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ประกอบกับมาตรา ๕๘ วรรค ๒ ห้ามผู้ใดใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิจำเลยมีอยู่ และจะใช้สิทธิในทางที่ขัดกับสิทธิที่จำเลยมีอยู่ไม่ได้ ผู้ร้องตั้งสิทธิของผู้ร้องโดยลำพัง ชอบที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทการที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง เพื่อรักษาสงวนสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงขอเข้าเป็นจำเลยและขอยื่นคำให้การแก้ฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร้องตั้งข้อหาพิพาทเข้ามาเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองสิทธิของตน ถือได้ว่าเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑) หาใช่เป็นการร้องเพื่อขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา ๕๗ (๒) ดังความเห็นของศาลล่างทั้งสองไม่ ฉะนั้น ข้อห้ามตามมาตรา ๕๘ วรรคสอง ที่ว่าห้ามไม่ให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามมาตรา ๕๗ (๒) ใช้สิทธิในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม จึงไม่เกี่ยวกับผู้ร้องสอดในคดีนี้ เหตุนี้แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดก็ยังมีสิทธิร้องสอดได้ ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องมาถูกต้อง คือคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ทั้งยังไม่มีการสืบพยาน ในชั้นนี้ศาลฎีกาเห็นว่าสมควรที่จะรับคำร้องสอดของผู้ร้องไว้พิจารณา ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งยกคำร้องเสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องสอดของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share