คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1719/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่นั้น (แจ้ง ส.ค.1) หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้แจ้งการครอบครองเป็นผู้มีสิทธิในที่นั้นเสมอไปไม่
มาตรา 1373 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิครอบครองเฉพาะในที่ดินซึ่งได้มีการจดทะเบียนออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว ฉะนั้น ที่ผู้ร้องไปแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 จึงไม่อาจปรับเข้าข้อสันนิษฐานตามความในมาตรา 1373 ได้

ย่อยาว

มูลคดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำยึดที่ดินมี ส.ค.๑ หนึ่งแปลงและเรือนหนึ่งหลังซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้
ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทั้งสองรายการมิใช่ทรัพย์ของจำเลย แต่เป็นทรัพย์ของผู้ร้องได้รับมรดกมาจากบิดาและมารดายกให้ ผู้ร้องและจำเลยได้เลิกร้างหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันแล้ว ขอให้ปล่อยทรัพย์
โจทก์ให้การว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นทรัพย์ของจำเลยร่วมกับผู้ร้องจำเลยกับผู้ร้องได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยาและได้ครอบครองทรัพย์ร่วมกันตลอดมาจนบัดนี้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
ในวันศาลทำการชี้สองสถาน ผู้ร้องและโจทก์แถลงว่าไม่ติดใจสืบพยานบุคคลโดยทนายผู้ร้องส่งเอกสาร ๒ ฉบับ คือหนังสือหย่าและแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.๑)
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามหนังสือหย่ามิได้กล่าวถึงการแบ่งทรัพย์ไว้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาและได้แยกการครอบครองทรัพย์เป็นส่วนสัด เมื่อผู้ร้องไม่นำสืบ คดีจึงต้องฟังว่าทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมา ยังเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ซึ่งจำเลยกับผู้ร้องยังปกครองร่วมกันอยู่ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องขัดทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะขอส่วนแบ่งของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗
ผู้ร้องขัดทรัพย์ฎีกาว่า การที่ศาลว่าผู้ร้องไม่ได้นำสืบว่าทรัพย์เป็นของผู้ร้องนั้น ผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องได้รับผลทางคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔(๒) แล้วจึงไม่จำเป็นต้องนำสืบถึงการแบ่งทรัพย์แต่อย่างใด
ศาลฎีกาเห็นว่า การแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕ นั้น หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้แจ้งการครอบครองเป็นผู้มีสิทธิในที่นั้นเสมอไปไม่ เพราะความประสงค์ของกฎหมายมาตรานี้มีเพียงว่าถ้าผู้ครอบครองไม่แจ้งการครอบครอง รัฐมีอำนาจจะจัดที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ฉะนั้น ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้รับผลทางคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ โดยได้แจ้งการครอบครองไว้จึงไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา ๑๓๗๓ มุ่งบัญญัติแต่เฉพาะสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่มีทะเบียนที่ดินแล้ว กล่าวคือได้มีการจดทะเบียนออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว เมื่อผู้ร้องไม่นำสืบให้เห็นว่าทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นของผู้ร้องคนเดียว ฎีกาของผู้ร้องจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share