คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสี่โดยจำเลยยินยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่ แต่จำเลยมิได้ขอเอาหนี้ตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะต่อโจทก์ที่ 4 มาขอหักกลบลบหนี้ด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของรวมซึ่งต่างมีส่วนในหุ้นพิพาท และมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ ดังนั้นแม้ว่าจำเลยชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยได้ก็ตามแต่จำเลยหามีสิทธิบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยโดยได้ร่วมกันซื้อหุ้นจากจำเลย แต่ชำระค่าหุ้นยังไม่เต็มมูลค่าของหุ้น โดยชำระค่าหุ้นแล้ว หุ้นละ 50 บาท จำเลยได้ออกใบหุ้นให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยคนละ 50,000 หุ้น และออกใบหุ้นให้แก่โจทก์ที่ 4เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลย 80,000 หุ้น ต่อมาจำเลยได้ริบของโจทก์ทั้งสี่ออกขาย เพราะโจทก์ทั้งสี่ไม่ชำระค่าหุ้นเพิ่มให้แก่จำเลยแต่ไม่ขายทอดตลาด โจทก์ทั้งสี่ได้คัดค้านให้ขายด้วยวิธีการขายทอดตลาดแต่จำเลยไม่ยอม อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของจำเลย ในการขายหุ้นทั้งหมดของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวได้ราคาเพียงหุ้นละ 25 บาท แต่มูลค่าหุ้นชำระเต็มมูลค่าหุ้นชำระเต็มมูลค่าหุ้นละ 100 บาท ซึ่งจำเลยและผู้แสดงความจำนงซื้อหุ้นทราบดีว่า หุ้นดังกล่าวมีราคาที่จะขายได้ไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 175 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย เพราะหากนำหุ้นของโจทก์ทั้งสี่ออกขายทอดตลาดจะมีเงินเหลือซึ่งจำเลยจะต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงินหุ้นละ125 บาท รวมจำนวน 190,000 หุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 23,750,000บาท จำเลยต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์ทั้งสี่ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปีเป็นค่าดอกเบี้ย 8,906,250 บาท รวมกับต้นเงินดังกล่าวเป็นเงิน 32,656,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 32,656,250 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 23,750,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมชำระเงินจำนวน3,800,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสี่ด้วยวิธีผ่อนชำระเดือนละ 100,000บาท ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ และต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่าได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ไปแล้วเป็นจำนวน 1,900,000บาท เหลือที่จะต้องชำระอีกเป็นเงิน 1,900,000 บาท แต่จำเลยได้ฟ้องนายประเสริฐ ฉัตรชัยสุชา โจทก์ที่ 4 ต่อศาลชั้นต้นเรียกเงินค่าหุ้นที่ยังขาดอยู่พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ที่ 4 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังขาดอยู่ทั้งหมด1,000,000 บาท แก่จำเลย พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2519 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยรวม29,391 บาท คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว และจำเลยได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีโจทก์ที่ 4 แล้ว ปรากฎตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1471/2521 ของศาลชั้นต้น จำนวนหนี้ที่โจทก์ที่ 4จะต้องชำระให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาดังกล่าว คำนวณถึงวันที่จำเลยยื่นคำร้องเป็นเงินทั้งสิ้น 1,821,719 บาท จำเลยขอนำหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสี่เดือนละ 100,000 บาท มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ที่ 4 จะต้องชำระให้แก่จำเลยจนกว่าจะครบตามยอดหนี้ที่โจทก์ที่ 4 จะต้องชำระให้แก่จำเลย แล้วจำเลยจะนำเงินในส่วนที่ยังขาดอยู่ที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ทั้งสี่เมื่อถึงกำหนดทันทีและขอให้ศาลงดการบังคับคดีนี้ไว้ก่อนโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า โจทก์ที่ 4 ไม่เคยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่ 4 ทั้งไม่เคยได้รับหมายนัดพิจารณาของศาลรวมทั้งคำบังคับให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแต่ประการใดเลย โจทก์ที่ 4 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา โจทก์ที่ 4 จะได้ขอให้ศาลพิจารณาใหม่ต่อไป โจทก์ที่ 4 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องในคดีดังกล่าว และในข้อเท็จจริงเดียวกันในคดีดังกล่าวจำเลยไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เช่นเดียวกัน แต่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ไม่ต้องรับต่อจำเลย แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3มิได้เป็นลูกหนี้ในคดีที่จำเลยขอให้หักกลบลบหนี้ด้วย จึงหักกลบลบหนี้กันไม่ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อตกลงให้นำหนี้ที่จำเลยต้องชำระไปหักกลบลบหนี้ที่โจทก์ที่ 4เป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1471/2521 ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอหักกลบลบหนี้เพราะขัดต่อเจตนาของโจทก์กับจำเลยในขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 341 วรรค 2 ให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า จำเลยริบหุ้นที่โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันซื้อมาจากจำเลยทั้งหมดนำออกขายโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย โดยระบุรายละเอียดค่าเสียหายว่าโจทก์ทั้งสี่ร่วมกันซื้อหุ้นของจำเลยรวม 190,000หุ้น ชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 50 บาท มูลค่าหุ้นชำระเต็มมูลค่าหุ้นละ 100 บาท แต่จำเลยนำออกขายได้เพียงหุ้นละ 25 บาทหากขายทอดตลาดตามข้อบังคับของจำเลยโดยชอบจะได้ราคาหุ้นละไม่ต่ำกว่า 175 บาท เมื่อหักเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระหุ้นละ 50 บาทออกแล้ว จะมีเงินค่าหุ้นเหลือซึ่งจำเลยจะต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงินหุ้นละ 125 บาท รวม 190,000 หุ้น เป็นเงิน23,750,000 บาท และจำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสี่อีกด้วย โจทก์ทั้งสี่และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 3,800,000บาท โดยผ่อนชำระเดือนละ 100,000 บาท ศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว และก่อนั้น ปรากฎจำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 4เป็นจำเลยเรียกเงินค่าหุ้นที่ยังขาดอยู่พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์ที่ 4 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังขาดอยู่ทั้งหมดจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2519 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนอีก 29,391 บาท คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วเช่นเดียวกัน ปัญหามีว่า จำเลยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตามคำร้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสี่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยมิได้ให้การขอเอาหนี้ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1471/2521 ของศาลชั้นต้น มาหักกลบลบหนี้หรือฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับโจทก์ทั้งสี่ไว้จำเลยเพียงแต่มาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสี่ยินยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่โดยมิได้ขอหักกลบลบหนี้เช่นเดียวกันทำให้ไม่อาจทราบได้ว่า หนี้นั้นหักกลบลบกันได้หรือไม่ เมื่อจำเลยมายื่นคำร้องขอให้หักกลบลบหนี้ดังกล่าวก็ปรากฎว่า โจทก์ทั้งสี่คัดค้าน หาได้ให้ความยินยอมในการที่จำเลยขอเอาหนี้ในอีกคดีหนึ่งนั้นมาหักกลบลบหนี้คดีนี้ไม่ และการที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้ในคดีนี้ ผลก็คือจำเลยขอบังคับคดีในคดีที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ที่ 4 นั้นเอง เมื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของรวมซึ่งต่างมีส่วนในหุ้นพิพาทและมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากหนี้เงินตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ ดังนั้นแม้จำเลยชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยได้ก็ตามแต่จำเลยหามีสิทธิบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้ตามคำร้อง”
พิพากษายืน

Share