แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยมีอาชีพรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ 5ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในโครงการต่าง ๆ ของทางราชการหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมอาชีพแก่ชาวบ้าน เด็กและเยาวชน ตลอดจนเป็นวิทยากรอบรมลูกเสือชาวบ้าน จำเลยจึงได้พบปะผู้คนมากมีประสบการณ์ในชีวิตพอสมควร พอจะประมาณการได้ว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุประมาณเท่าใด จำเลยรู้จักกับผู้เสียหายมาก่อนเกิดเหตุเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ เพราะรับสอนผู้เสียหายขับรถยนต์โดยผู้เสียหายไปกับมารดาทุกครั้ง แต่วันเกิดเหตุจำเลยเบิกความยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยบอกมารดาของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายสามารถขับรถทางไกลได้ พรุ่งนี้เมื่อมารดาขับรถเสร็จแล้วไม่ต้องรอรับผู้เสียหายกลับบ้านเพราะจะนำผู้เสียหายฝึกหัดขับรถทางไกลเป็นเวลา2 ชั่วโมงนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ วันเกิดเหตุจำเลยก็ให้ผู้เสียหายขับรถไกลถึงประมาณ 60 กิโลเมตร ก็เป็นพิรุธเพราะกว่าจะไปและกลับคงต้องใช้เวลานานกว่าที่ฝึกขับรถปกติวันละ 2 ชั่วโมง จำเลยเป็นครูฝึกหัดขับรถแต่ไปสอบถามเรื่องส่วนตัวของผู้เสียหายซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหน้าที่ของตนเอง หากจำเลยพูดคุยกับผู้เสียหายก็น่าจะพอคาดคิดได้ว่าผู้เสียหายมีระดับสติปัญญาเป็นเด็กเพียงใด พฤติการณ์ที่จำเลยขับรถพาผู้เสียหายเข้าโรงแรมก็ไม่ปรากฏว่าได้รักใคร่ชอบพอผู้เสียหายหรือเคยพูดจาแสดงความรักกันมาก่อน เพียงแต่จำเลยเบิกความทำนองคิดว่าผู้เสียหายมีใจแก่จำเลยเท่านั้น นับว่าเป็นการฉวยโอกาสจากความไร้เดียงสาของผู้เสียหายเพื่อสนองตัณหาของตนเท่านั้น ชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยก็มิได้แสดงว่าจำเลยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายอย่างใด กรณีจะเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก จะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุชักจูงใจให้สำคัญผิดโดยสุจริต มิใช่คาดคะเนเอาเองดังที่จำเลยเบิกความพฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเป็นข้อแก้ตัวว่าจำเลยสำคัญผิดโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก และการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ห้องของโรงแรมที่เกิดเหตุ เป็นการล่วงอำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจริงโดยผู้เสียหายยินยอม ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก และ 317 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงยินยอม จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพว่า กระทำชำเราผู้เสียหาย และเบิกความเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปีและ 3 ปี 4 เดือน ตามลำดับรวม 2 กระทง จำคุก 7 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคแรก จำคุก 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายมีอายุเกิน15 ปีแล้วหรือไม่ และจำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารหรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบว่าผู้เสียหายเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2523 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 14 ปีเศษ ส่วนจำเลยเบิกความว่าผู้เสียหายสูงประมาณ 155 เซนติเมตร มีรูปร่างอวบขาวขณะฝึกสอนไม่ทราบว่ามีอายุเพียง 14 ปีเศษ แต่คาดว่ามีอายุเกิน15 ปีแล้วและเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ระหว่างฝึกหัดขับรถให้ผู้เสียหายนั้นได้สอบถามเรื่องส่วนตัวจึงได้ทราบว่าผู้เสียหายกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสตรีศรีน่าน ชั้น ม.3 เห็นว่า จำเลยมีอาชีพรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ 5 ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในโครงการต่าง ๆ ของทางราชการหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมอาชีพแก่ชาวบ้านเด็กและเยาวชนตลอดจนเป็นวิทยากรอบรมลูกเสือชาวบ้าน จำเลยจึงได้พบปะผู้คนมากมีประสบการณ์ในชีวิตพอสมควร พอจะประมาณการได้ว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุประมาณเท่าใด จำเลยรู้จักผู้เสียหายมาก่อนเกิดเหตุเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ เพราะในการเรียนขับรถยนต์นั้นจะเรียนเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์ละ 2 วัน ผู้เสียหายเบิกความว่าไปเรียนทุกอาทิตย์ จนถึงสัปดาห์ที่ 3 (ครั้งที่ 6) โดยผู้เสียหายไปกับมารดาทุกครั้ง ในการสอนขับรถยนต์ปกติจำเลยจะสอนให้นางโสนมารดาของผู้เสียหายก่อน เสร็จแล้วจึงสอนให้แก่ผู้เสียหาย โดยนางโสนรอรับผู้เสียหายกลับบ้านพร้อมกัน แต่วันเกิดเหตุจำเลยเบิกความยอมรับว่าก่อนวันเกิดเหตุ 1 วัน (วันที่ 12 สิงหาคม 2538) จำเลยบอกนางโสนว่าผู้เสียหายสามารถขับรถทางไกลได้ พรุ่งนี้เมื่อนางโสนขับรถเสร็จแล้วไม่ต้องรอรับผู้เสียหายกลับบ้านเพราะจำนำผู้เสียหายฝึกหัดขับรถทางไกลเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เหตุใดเมื่อผู้เสียหายมาฝึกหัดขับรถและกลับพร้อมมารดาผู้เสียหายทุกครั้ง แต่วันเกิดเหตุจำเลยกลับให้มารดาผู้เสียหายกลับไปก่อนนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ วันเกิดเหตุจำเลยก็ให้ผู้เสียหายขับรถไกลถึงประมาณ 60 กิโลเมตร ก็เป็นพิรุธ เพราะกว่าจะไปและกลับคงต้องใช้เวลานานกว่าที่ฝึกขับรถปกติวันละ 2 ชั่วโมง จำเลยเป็นครูฝึกหัดขับรถแต่ไปสอบถามเรื่องส่วนตัวของผู้เสียหายซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหน้าที่ของตนเอง หากจำเลยพูดคุยกับผู้เสียหายก็น่าจะพอคาดคิดได้ว่า ผู้เสียหายมีระดับสติปัญญาเป็นเด็กเพียงใด จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่าในการสมัครเรียนหัดขับรถนั้น จำเลยจะมีแบบพิมพ์ให้ผู้สมัครกรอก ป้าของจำเลยจะนำชื่อผู้สมัครเรียนกรอกไว้ในตารางให้ทราบว่าวันไหนต้องสอนใครบ้างแต่ไม่ได้เห็นใบสมัครของผู้เสียหายและจำเลยก็เบิกความลอย ๆ โดยมิได้มีป้าของจำเลยมาเบิกความสนับสนุน พฤติการณ์ที่จำเลยขับรถพาผู้เสียหายเข้าโรงแรมก็ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่าได้รักใคร่ชอบพอผู้เสียหายหรือเคยพูดจาแสดงความรักกันมาก่อน เพียงแต่จำเลยเบิกความทำนองคิดว่าผู้เสียหายมีใจแก่จำเลยเท่านั้น นับว่าเป็นการฉวยโอกาสจากความไร้เดียงสาของผู้เสียหายเพื่อสนองตัณหาของตนเท่านั้น ชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยก็มิได้ว่าจำเลยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายอย่างใด กรณีจะเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 62 วรรคแรก ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยนั้นจะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุชักจูงใจให้สำคัญผิดโดยสุจริต มิใช่คาดคะเนเอาเองดังที่จำเลยเบิกความ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยกขึ้นกล่าวอ้าง เพื่อเป็นข้อแก้ตัวว่าจำเลยสำคัญผิดโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกและการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ห้องของโรงแรมที่เกิดเหตุเป็นการล่วงอำนาจปกครองของนางโสนมารดาผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิด 2 กรรม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี จำเลยมีอาชีพรับราชการและประกอบอาชีพเสริมสอนขับรถยนต์ จำเลยมีภริยาและบุตรแล้ว กลับมากระทำผิดต่อกฎหมายเช่นคดีนี้โดยมิได้คำนึงถึงศีลธรรมอันดี ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 2 กระทง โดยลดโทษที่จะลงให้หนึ่งในสามแล้งคงจำคุกกระทงละ 4 ปี และ 3 ปี 4 เดือน ตามลำดับนั้น นับว่าให้ความปรานีแก่จำเลยมากแล้ว และโทษจำคุกดังกล่าวไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะรอการลงโทษให้จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น