แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 15602/2547 ต่อศาลชั้นต้น สืบเนื่องจากโจทก์ได้รับแจ้งหมายเลขทะเบียนรถโดยสารคันที่ก่อเหตุละเมิดผิดพลาดจากพนักงานสอบสวน กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สินไหมทดแทนตั้งแต่วันเกิดเหตุ ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้รับแจ้งว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับคนขับรถโดยสารคันที่ก่อเหตุละเมิดแล้ว จึงทราบว่ารถโดยสารคันที่ก่อเหตุละเมิดที่แท้จริงคือ หมายเลขทะเบียน 11-9221 กรุงเทพมหานคร กรณีจึงถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 อายุความทางละเมิดจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้
โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 15602/2547 ต่อศาลชั้นต้นมาก่อน เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นตัวการผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง โดยรับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 11-2921 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคนละคันกับคดีนี้เข้าร่วมในการประกอบกิจการและได้รับประโยชน์จากรถโดยสารคันดังกล่าว หาได้เรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดเกี่ยวกับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 11-9221 กรุงเทพมหานคร ในคดีนี้แต่อย่างใด กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2550 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 25,615.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 19,704.26 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,615.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 19,704.26 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด กรณีจึงต้องนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดประการหนึ่งและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกประการหนึ่งประกอบกันเป็นวันใด และพ้นหนึ่งปีนับแต่วันดังกล่าว คดีจึงจะขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว ก่อนคดีนี้ที่โจทก์ยื่นฟ้องนางพยอม เจ้าของกรรมสิทธิ์รถโดยสารหมายเลขทะเบียน 11-2921 กรุงเทพมหานคร กับจำเลยที่ 2 และบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อศาลชั้นต้น ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 15602/2547 เพื่อให้รับผิดในเหตุละเมิด โดยเข้าใจว่าคนขับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 11-2921 กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ก่อเหตุละเมิดขับรถชนเสาโทรศัพท์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย สืบเนื่องจากนายกิตติพิชญ์ พนักงานของโจทก์ไปทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุ โดยนายกิตติพิชญ์ได้บันทึกหมายเลขทะเบียนรถไว้ในใบแจ้งเหตุเสียหายและไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน จึงเป็นการรับทราบข้อมูลเบื้องต้นของนายกิตติพิชญ์จากพนักงานสอบสวนเท่านั้น โดยจำเลยที่ 2 ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 15602/2547 ต่อศาลชั้นต้น สืบเนื่องจากโจทก์ได้รับแจ้งหมายเลขทะเบียนรถโดยสารคันที่ก่อเหตุละเมิดผิดพลาดจากพนักงานสอบสวน หาใช่เกิดเพราะความผิดพลาดของนายกิตติพิชญ์พนักงานโจทก์ กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สินไหมทดแทนตั้งแต่วันเกิดเหตุหรือนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มอบอำนาจให้นายกิตติพิชญ์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด ครั้นเมื่อต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 นายปกรณ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้รับแจ้งว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับคนขับรถโดยสารคันที่ก่อเหตุละเมิดแล้ว ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรนนทบุรี จึงทราบว่ารถโดยสารคันที่ก่อเหตุละเมิดที่แท้จริงคือ หมายเลขทะเบียน 11-9221 กรุงเทพมหานคร และทำการขอคัดถ่ายสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี โดยพนักงานสอบสวนรับรองถูกต้อง แล้วรายงานให้โจทก์ทราบ จากนั้นโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 15602/2547 กรณีจึงถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 อายุความทางละเมิดจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 15602/2547 ต่อศาลชั้นต้นมาก่อนนั้น ก็เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นตัวการผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง โดยรับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 11-2921 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคนละคันกับคดีนี้เข้าร่วมในการประกอบกิจการ และได้รับประโยชน์จากรถโดยสารคันดังกล่าว หาได้เรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดเกี่ยวกับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 11-9221 กรุงเทพมหานคร ในคดีนี้แต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2550 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ