คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5604/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์กรมที่ดินจำเลยให้การโต้เถียงว่าที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นการพิพาทกันด้วยสิทธิในที่ดิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 62 ตำบลสำราญ อำเภอเมืองขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น เดิมโจทก์กับจำเลยที่ 4 ต่างครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วนมีแนวเขตที่ดินติดต่อกันชัดแจ้งแน่นอน ต่อมาเมื่อวันที่13 สิงหาคม 2518 จำเลยที่ 1 ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 4604 ตำบลสำราญ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นเนื้อที่ 39 ไร่ 3 งาน 29 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 4 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 20 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวานอกจากนี้จำเลยที่ 4 ยังได้นำป้ายแสดงแนวเขตไปปักรุกล้ำในที่ดินของโจทก์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ออกโฉนดให้ในที่ดินของโจทก์ จึงทราบว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์บางส่วนโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่อาจขอออกโฉนดที่ดินได้ตามจำนวนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของ ขอศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 20 1 เศษ 10 ตารางวา เป็นของโจทก์และให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่รุกล้ำ และห้ามเกี่ยวข้องใด ๆ ในที่ดินของโจทก์หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนป้ายแสดงแนวเขตที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์หากจำเลยที่ 4 ไม่ดำเนินการให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนป้ายโดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีอำนาจหน้าที่ออกหรือเพิกถอนหนังสือสำคัญที่หลวง เพราะเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ในราชการจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่พิพาทไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะฟ้องร้องเกิน 1 ปีนับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.1กับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.2มีแนวเขตทับหรือเหลื่อมล้ำกันเป็นเนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน20 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวา ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.3ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแสดงแนวเขตรุกล้ำเข้าไปทับที่ดินของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แนวเขตที่ดินพิพาทตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.2 ได้มีการรังวัดมาตามทะเบียนที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ที่ได้ทำขึ้นไว้ในปี 2502 ก่อนมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งออกเมื่อปี 2510การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.2 ที่พิพาทแนวเขตที่ดินจึงไม่ทับที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่าได้มีการครอบครองทำประโยชน์จนออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงถือว่าผู้ครอบครองได้สิทธิครอบครองในที่ดินและจำเลยที่ 4 ยังได้ขอแบ่งเวนคืนที่ดินในส่วนที่พิพาทด้านทิศตะวันออกซึ่งอยู่ติดกับถนนมิตรภาพ เมื่อปี 2514ตามหนังสือเรื่องขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทแบ่งเวนคืนคำขอแบ่งเวนคืน บันทึกถ้อยคำ 2 ฉบับ และประกาศที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น เรื่องมีผู้ขอแบ่งเวนคืนที่ดิน เอกสารหมาย จ.8จ.9 จ.10 จ.11 และ จ.12 ตามลำดับ เท่ากับเป็นการยอมรับแนวเขตที่ดินของโจทก์ในส่วนที่พิพาทแนวเขตที่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 4 จึงมิได้เหลื่อมล้ำกันนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.2 อธิบดีกรมที่ดินออกให้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 ตรี เมื่อปี 2518มีข้อความระบุว่าเพื่อแสดงเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.2 ได้รังวัดตามรูปที่ดินตามทะเบียนที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งทำขึ้นไว้ในปี 2502 ถือได้ว่ามีหลักฐานแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาก่อนที่ดินของโจทก์จะมีการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินพิพาทจึงโอนให้แก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาเมื่อที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้โจทก์จะครอบครองมาและได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วก็ไม่ได้สิทธิครอบครองและใช้ยันฝ่ายจำเลยไม่ได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และที่โจทก์ฎีกาว่าประกาศกระทรวงคมนาคมเอกสารหมาย ล.4ที่สงวนที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ไม่มีแผนที่ท้ายประกาศ และระบุตำบลคนละตำบลกับที่ดินพิพาท แต่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าเอกสารหมาย ล.3 อ้างอิงมาจากประกาศกระทรวงคมนาคมเอกสารหมาย ล.4 จึงไม่ถูกต้องและฟังไม่ได้ว่าที่ดินตามประกาศกระทรวงคมนาคมเอกสารหมาย ล.4 รวมถึงที่ดินส่วนพิพาทด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.2 เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามทะเบียนที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ดังที่ได้วินิจฉัยมาปัญหาว่า ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินตามประกาศกระทรวงคมนาคมเอกสารหมาย ล.4 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปนอกจากนี้ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่โจทก์มีอยู่แล้วหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ก็ไม่ได้อะไรมากกว่าสิทธิที่โจทก์มีอยู่การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการพิพาทกันด้วยสิทธิในที่ดินตามที่ฟ้อง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามที่โจทก์ได้เสียมานั้นชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share