คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลว่าจำเลย ยินยอมชำระเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่งภายใน 6 เดือน โดยจำเลยจะ ผ่อนชำระเป็นรายเดือน หากจำเลยผิดนัดงวดใดให้ถือว่าผิดนัด ทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้และให้คิดดอกเบี้ยในเงินที่ค้าง ชำระนับแต่วันผิดนัดเมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนแล้วโจทก์จะถอนฟ้อง จำเลยในคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็คฯ ดังนี้ แม้จำเลยจะผิดนัดชำระเงิน2 งวด ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้บังคับคดีหรือ คิดดอกเบี้ยจากจำเลย ถือได้ว่าโจทก์จำเลยต่างมีเจตนาระงับข้อผูกพัน เดิมโดยไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเป็นการผิดสัญญา และ ไม่ติดใจเรื่องดอกเบี้ยกันแล้ว เมื่อจำเลยชำระหนี้งวดสุดท้ายให้ โจทก์ โจทก์จะไม่รับโดยเกี่ยวจะคิดดอกเบี้ยด้วยหาได้ไม่ การที่จำเลยนำเงินนั้นไปวางที่กรมบังคับคดีภายในกำหนดตามสัญญาจึงเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ต้องถอนฟ้องคดีอาญาให้จำเลย และมีผลเป็นการยอมความในคดีอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์จำเลยยอมความกันแล้วที่ศาลแพ่ง สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ให้จำหน่ายคดีโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ปัญหามีว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ สิทธินำคดีนี้มาฟ้องระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปตามฎีกาและคำแก้ฎีกาว่าระหว่างอุทธรณ์ โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลแพ่งในคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2529 ว่า “ข้อ 1 จำเลยยินยอมชำระเงินจำนวน208,950 บาท แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ โดยจะทำการผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทเริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2529 และงวดต่อไปในทุกวันที่ 4 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบเต็มจำนวน โดยจำเลยจะนำเงินไปชำระ ณ สำนักงานทนายโจทก์ ข้อ 2 หากจำเลยผิดนัดการชำระเงินงวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีทั้งหมดได้ทันที โดยให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งในเงินที่คงค้างชำระนับแต่วันผิดนัด ข้อ 3 เมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนตามข้อ 1 แล้ว โจทก์จะถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ช.11847/2528 ของศาลอาญา ข้อ 4 โจทก์ตกลงตามข้อ 1, 2 และ 3ข้อ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืน ขอให้เป็นพับ…”จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2529 ด้วยเช็คจำนวนเงิน 50,000 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26มิถุนายน 2529 ด้วยสร้อยข้อมือเพชร ตีราคาเป็นเงิน 75,000 บาทและจำเลยพร้อมชำระให้โจทก์สำหรับหนี้ที่เหลือ 83,900 บาท ด้วยตั๋วแลกเงินของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาปราจีนบุรี ลงวันที่22 กรกฎาคม 2529 แต่โจทก์ไม่ยอมรับโดยเกี่ยวจะเอาดอกเบี้ยอ้างว่าจำเลยผิดนัดจำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ที่กองคลัง กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นการชำระหนี้โจทก์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2529 ปัญหามีว่า ถือได้หรือยังว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์จะต้องถอนฟ้องคดีนี้ตามที่ตกลงไว้ กล่าวคือ สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการยอมความในคดีอาญาซึ่งมีเงื่อนไขและเงื่อนไขนั้นได้ลุล่วงแล้วอันจะเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญาฟ้องระงับไป ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาข้อ 3 ระบุเพียงว่าเมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนตามข้อ 1 แล้ว โจทก์จะถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญา มิได้คำนึงว่าจะมีการผิดนัดในระหว่าง 6 เดือนนั้น อันจะเป็นเหตุให้ต้องบังคับคดีและคิดดอกเบี้ยกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไปแยกระบุไว้ต่างหากเป็นข้อ 2 ซึ่งไม่เป็นเงื่อนไขในการจะถอนฟ้องทั้งในทางปฏิบัติโจทก์เองก็รับชำระหนี้จากจำเลยสองครั้งเมื่อวันที่24 และ 26 มิถุนายน 2529 ตามลำดับ ซึ่งผิดสัญญาที่นัดชำระหนี้งวดแรกและงวดที่ 2 วันที่ 4 พฤษภาคม 2529 กับ วันที่ 4 มิถุนายน2529 ตามลำดับโดยโจทก์มิได้อิดเอื้อนหรือเกี่ยงงอนจะบังคับคดีหรือคิดดอกเบี้ยจากจำเลยแต่ประการใด ถือได้ว่าโจทก์จำเลยต่างมีเจตนาระงับข้อผูกพันเดิมโดยไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดนัดในสัญญาเป็นการผิดสัญญา นั่นคือไม่ติดใจเรื่องดอกเบี้ยกันแล้วนั่นเองเมื่อจำเลยจะชำระหนี้งวดสุดท้ายให้โจทก์โจทก์ไม่รับโดยเกี่ยงจะคิดดอกเบี้ยด้วย จึงไม่ชอบ ฉะนั้นเมื่อจำเลยนำเงินนั้นไปวางที่กองคลังกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ในเดือนสิงหาคม 2529 ซึ่งอยู่ในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา จึงเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องถอนฟ้องคดีอาญาให้จำเลยตามข้อตกลง กรณีจึงมีผลเป็นการยอมความในคดีอาญาสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share