คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อตกลงให้จำเลยชำระเงินตามเวลาที่กำหนด โจทก์จะโอนที่ดินแก่จำเลย แต่ไม่ได้กำหนดว่าโจทก์จะโอนที่ดินแก่จำเลยเมื่อใด ดังนี้ โจทก์ต้องโอนที่ดินแก่จำเลยตอบแทนในคราวเดียวกันโดยปลอดภาระติดพันด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยวางเงินได้ภายใน 7 วันนับแต่วันมีคำสั่ง และเป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งการบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดวิธีการบังคับคดี ก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัด จะถือกำหนดวันที่จำเลยที่ 3 ต้องวางเงินตามข้อตกลงเดิมไม่ได้ ศาลให้จำเลยนำเช็คของธนาคารมาวางศาลใน7 วัน นับแต่ฟังคำพิพากษา ให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยโดยปลอดภาระติดพัน แล้วให้โจทก์รับเช็คไปจากศาล

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อที่ดินจากโจทก์ โฉนดเลขที่ 3072 และเลขที่ 8304 ตำบลพญาไท (ประแจจีน)เขตพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างคือโรงภาพยนตร์เพชรพิมานและอุปกรณ์ในโรงภาพยนตร์นั้น ในราคาทั้งสิ้น 8,298,000บาท โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระราคาให้แก่โจทก์เป็น 4 งวด และชำระเงินด้วยเช็ค ถ้าเช็คฉบับใดขึ้นเงินไม่ได้ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายทั้งหมด ให้โจทก์ริบเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์แล้วทั้งสิ้นได้ และจำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 หรือบริวารไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินเดือนละ 150,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในความเสียหายและค่าปรับที่จะเกิดขึ้น จำเลยที่ 1ชำระให้โจทก์เรียบร้อยเพียงงวดแรก 1,000,000 บาท งวดที่ 2 จำเลยที่ 1ชำระให้โจทก์เพียง 800,000 บาท คงค้างชำระอยู่อีก 200,000 บาท ส่วนงวดที่ 3 และงวดที่ 4 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา ประกอบทั้งนับแต่ตกลงซื้อขายจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขายตลอดมา ได้ใช้โรงภาพยนตร์เพชรพิมานสำหรับฉายภาพยนตร์เพื่อหารายได้ ทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวเสื่อมราคา จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยร่วมกันชำระค่าปรับและค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย

จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้คดี โดยจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ฟ้องแย้งเรียกค่านายหน้าเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยทั้งห้าต่างปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้อง

ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2518 โจทก์และจำเลยทั้งห้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมมีใจความว่าจำเลยที่ 3 ถอนฟ้องแย้งไม่ติดใจเรียกร้องเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อที่ดินสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินตามคำฟ้องในสภาพที่เป็นอยู่ซึ่งจำเลยที่ 1ครอบครองอยู่แล้ว เป็นเงิน 6,448,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะชำระราคาให้โจทก์เป็น 3 งวด ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด จำเลยที่ 1 และบริวารตกลงมอบทรัพย์สินตามคำฟ้องทั้งหมดให้โจทก์ทันที และตกลงให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ส่วนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วนั้นให้โจทก์ริบทั้งสิ้น และจำเลยทั้งห้าตกลงร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ครบ และเมื่อจำเลยทั้งหมดชำระค่าเสียหายครบแล้ว โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นี้ให้จำเลยที่ 1

วันที่ 16 กันยายน 2518 โจทก์และจำเลยทั้งห้าตกลงกันอีกว่า หากมีการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2518 และจะต้องมีการบังคับคดี โจทก์จะบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5ก่อน ขาดเหลืออยู่เท่าใดจึงจะบังคับเอากับจำเลยที่ 3 เป็นคนสุดท้าย

วันที่ 26 มกราคม 2519 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1และจำเลยอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดเวลา จึงได้ขอร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แทน และจำเลยที่ 3 ตกลงรับที่จะชำระหนี้แทนให้ โดยตกลงกันว่ากรรมสิทธิ์หรือสิทธิใด ๆ ที่โจทก์มีอยู่ในทรัพย์สิน เมื่อจำเลยที่ 3ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ครบตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินซึ่งโจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงสละสิทธิในทรัพย์สินตลอดจนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีปรากฏอยู่ในคดีนี้ทั้งหมดโอนตกเป็นสิทธิและกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 ผู้ชำระหนี้โดยตรงต่อไป และขอให้โจทก์รับทราบข้อตกลงนี้ด้วย

ในวันที่ 26 มกราคม 2514 นั้นเอง จำเลยที่ 3 ได้นำเงินตามงวดที่ 1และค่าเสียหายมาวางศาลชั้นต้นเพื่อชำระให้โจทก์เป็นเงิน 1,200,000 บาทโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้ว

วันที่ 11 มีนาคม 2514 จำเลยที่ 3 ได้นำเงินงวดที่ 2 มาวางศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วเช่นกัน

วันที่ 13 กันยายน 2519 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2519 จำเลยได้นำเช็คสั่งจ่ายจำนวนเงิน 7,589,000บาท ไปมอบให้ทนายความโจทก์เพื่อชำระหนี้เป็นงวดที่ 3 แต่ทนายโจทก์ไม่ยอมโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3 เลขที่ 871 และเลขที่ 887 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลศรีษะจรเข้น้อย อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ และไม่อาจโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยได้ เพราะโจทก์เอาที่ดินดังกล่าวไปให้คนอื่นเช่า โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนโจทก์ยื่นคำแถลงด้วยว่า โจทก์ไม่ได้ก่อภาระผูกพันกับที่ดินที่จะโอนคืนให้จำเลย ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3 เลขที่ 871 และเลขที่ 887 ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่ใช่ฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ

ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2519 ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและเปรียบเทียบแล้ว ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยที่ 5 ตกลงกันอีกว่า จำเลยที่ 3 จะชำระเงิน 7,633,000บาทให้โจทก์ภายในวันที่ 28 กันยายน 2519 โดยนำมาวางที่ศาล โจทก์จะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3072, 8304 ตำบลพญาไท (ประแจจีน) เขตพญาไท (ดุสิต)กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว และที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลจรเข้น้อย อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ โฉนดเลขที่ 871 ตำบลศรีษะจรเข้ อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการและโฉนดเลขที่ 887 (หัวจรเข้) จรเข้ใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการให้จำเลยที่ 3เมื่อโจทก์ได้รับเช็คตามจำนวนเงิน 7,633,000 บาทที่จำเลยที่ 3 นำมาวางจากศาลแล้ว หลังจากโจทก์ได้รับเช็คดังกล่าวจากศาลแล้ว จำเลยที่ 1 จะส่งมอบสิ่งก่อสร้างในที่โฉนดเลขที่ 3072 และ 8304 ตำบลพญาไท (ประแจจีน)อำเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับโรงภาพยนตร์อาทิเช่นเครื่องเย็น เก้าอี้ สำหรับเครื่องฉายภาพยนตร์ จำเลยที่ 1 จะส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ภายใน 6 เดือนนับแต่วันนี้ จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ได้ตามข้อตกลงดังกล่าว ในการที่โจทก์โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการโอน ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่ชำระเงินให้โจทก์ภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 11กันยายน 2518

วันที่ 27 กันยายน 2519 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ไม่ยอมลงชื่อในคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นนัดจำเลยที่ 3 มาลงชื่อในคำมั่นดังกล่าว ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่มาตามนัดก็ขอให้ศาลขยายเวลาให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิวางเงินงวดที่ 3 ให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 จะมีประการใด เป็นเรื่องนอกจากสัญญายอม ศาลบังคับให้ในคดีนี้ไม่ได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอวางเงินและขอให้ศาลขยายเวลาให้นั้น ตามข้อตกลงเพิ่มเติมจากสัญญายอม ไม่มีเหตุจะสั่งตามที่จำเลยที่ 1 ขอได้ จึงยกคำร้อง

วันที่ 28 กันยายน 2519 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ไม่วางเงินงวดที่ 3 โดยสมรู้กับโจทก์โกงเอาทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลไต่สวน และให้จำเลยที่ 1 วางเงินงวดที่ 3 ให้โจทก์ แล้วให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมด ศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3จะสมรู้กันอย่างไร ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ยกคำร้อง

วันที่ 28 กันยายน 2519 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องเช่นเดียวกันมีใจความว่าศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 ในวันนี้ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ถูกกลั่นแกล้งจากบุคคลหลายฝ่ายรวมทั้งธนาคารที่จะให้กู้เงินด้วยเพราะทางธนาคารที่จะให้กู้เงินสืบทราบมาว่าจะทำการโอนหรือจำนองไม่ได้ในเมื่อได้วางเงินต่อศาลแล้วโดยจะมีการอายัดจะมีการคัดค้านและจะมีการฟ้องร้องอีกหลายคดี ซึ่งจะเป็นเหตุให้เงินที่จะนำมาวางต่อศาลจะได้รับความเสียหาย และไม่ได้รับโฉนดด้วย ประกอบกับเป็นเงินจำนวนมากและเป็นเวลากะทันหัน จำเลยกลับตัวไม่ทัน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเลยที่ 3 จึงขอความกรุณาต่อศาล ได้โปรดขยายเวลาให้จำเลยที่ 3 นำเงินมาวางต่อศาลภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุจะขยายเวลาให้จำเลยที่ 3 ได้ยกคำร้อง

วันที่ 29 กันยายน 2519 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ฝ่ายโจทก์มารับเงินงวดที่ 3 จากจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นสั่งว่าพ้นกำหนดวางเงินแล้ว ให้ยกคำร้อง

วันที่ 29 กันยายน 2519 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องเช่นกันว่า จำเลยที่ 3มีเจตนาสุจริตตั้งแต่ต้นตลอดมาที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงได้ชำระเงินตั้งแต่งวดที่ 1 และงวดที่ 2 เป็นจำนวนเงินถึง 2,200,000 บาทตลอดมาด้วยดี และโจทก์ก็ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วบัดนี้มีพฤติการณ์พิเศษเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย กล่าวคือก่อนถึงกำหนดเวลาวงเงินงวดที่ 3 คู่ความในคดีนี้ได้ช่วงชิงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอวางเงินงวดที่ 3อันเป็นมูลเหตุให้เจ้าของเงินที่จำเลยที่ 3 จะกู้ยืมมาชำระหนี้ให้โจทก์มีความลังเลไม่แน่ใจว่าออกเงินให้จำเลยที่ 3 แล้วทรัพย์สินตามฟ้องซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องโอนให้แก่จำเลยที่ 3 นั้นจะโอนได้หรือไม่ จึงกลับใจไม่ช่วยเหลือจำเลยที่ 3 ดังนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงขอให้ศาลมีคำสั่งขยายเวลาวางเงินงวดที่ 3ตามที่เคยร้องมาแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุจะขยายเวลาให้จำเลยที่ 3ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอขยายระยะเวลาวางเงินงวดที่ 3 เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ และให้โจทก์โอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2518 และบันทึกข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 21 กันยายน 2519

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอขยายระยะเวลาวางเงินงวดที่ 3 ออกไปอีก 7 วัน

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะร้องขอขยายระยะเวลาเพื่อนำเงินงวดที่ 3 มาชำระให้โจทก์ ส่วนพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 หาได้ส่อไปในทางประวิงการชำระเงินงวดที่ 3 ให้แก่โจทก์ดังโจทก์กล่าวอ้างไม่ เพื่อความยุติธรรม ศาลอุทธรณ์เห็นควรขยายระยะเวลาวางเงินงวดที่ 3 ให้โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 ร้องขอ พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดที่ 3 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 11 กันยายน 2518และบันทึกข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 21 กันยายน2519 ให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันฟังคำสั่ง

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2520 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมีใจความว่า การที่จำเลยที่ 3 จะวางเงินเป็นกรณีสัญญาต่างตอบแทน คือโจทก์ต้องโอนโฉนดให้จำเลยที่ 3 โดยปลอดภาระติดพันจำเลยที่ 3 จึงจะชำระเงินให้ทันที ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดวิธีการปฏิบัติตามที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งที่ 2422/2520

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลไม่จำต้องกำหนดวิธีปฏิบัติหรือกำหนดวิธีเกี่ยวกับการบังคับคดี หรือกำหนดวันที่จำเลยที่ 3 มีสิทธิวางเงินแต่อย่างใดเพราะการบังคับคดีจะเป็นประการใดนั้น มีสัญญาประนีประนอมยอมความรายงานกระบวนพิจารณา และคำพิพากษาแจ้งชัดอยู่แล้ว จึงยกคำร้อง

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นสัญญาต่างตอบแทน ขอให้สั่งให้จำเลยที่ 3 วางเงินตามแคชเชียร์เช็คเพียง 7,633,000 บาทแก่โจทก์เท่านั้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 กันยายน 2519 และขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดวิธีการให้โจทก์ นำโฉนดมาในวันเดียวกันนั้นไปทำการโอนให้จำเลยที่ 3 โดยปลอดภาระติดพัน ณ สำนักงานที่ดิน พร้อมกับโจทก์รับเช็คค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไป ในเมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นไปโดยเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน จำเลยที่ 3 ฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ 2422/2520ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2520 ที่สั่งว่า “ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งเรื่องคุ้มครองชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดีจะพึงดำเนินประการใดนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง” และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2520

ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา

จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกา และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์

ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิวางเงินงวดที่ 3 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และให้โจทก์โอนทรัพย์สินพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

ศาลชั้นต้นสั่งให้แยกสำนวนเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3ส่งศาลอุทธรณ์ โดยให้จัดทำสำเนาคำคู่ความที่เกี่ยวข้องไปศาลอุทธรณ์ (แต่ยังไม่ทันจัดการ) และให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกา

ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกา และสั่งต่อไปว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฎีกาด้วยและศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาไว้แล้ว แต่เห็นว่าควรให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เสียก่อน จึงให้ศาลชั้นต้นส่งถ้อยคำสำนวนทั้งหมดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วและได้มีการฎีกาต่อมา หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว ก็ให้ส่งสำนวนคืนมายัง ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ขั้นตอนทางปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับเดิม หรือข้อที่ตกลงกันใหม่ ก็มีเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือยังคงให้จำเลยที่ 3 ชำระแก่โจทก์ครบถ้วนก่อนแล้ว จึงให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตามที่ตกลงกันให้แก่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3อ้างวิธีปฏิบัติชำระหนี้ทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 210เพื่อหักล้างเปลี่ยนแปลงลำดับก่อนหลังในข้อตกลงที่จำเลยที่ 3 ทำไว้หาได้ไม่และเห็นว่านับถึงวันที่จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ก็ยังมิได้ชำระเงินงวดที่ 3 แก่โจทก์ตามที่ตกลง จำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์ขอให้กำหนดวิธีปฏิบัติชำระหนี้แตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ และข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 กันยายน 2519 ศาลบังคับให้ไม่ได้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาทแทนโจทก์

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาจะได้พิจารณาฎีกาของจำเลยที่ 3 และฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ได้ยื่นไว้ก่อนแล้วรวมกันไป

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าคดีนี้เดิมศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 11 กันยายน2518 มีใจความว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อที่ดินสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินตามคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ครอบครองอยู่แล้วเป็นจำนวนเงิน 6,448,000บาทจากโจทก์ โดยจะชำระราคาเป็น 3 งวด และจำเลยทั้งห้าตกลงร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าซื้อทรัพย์สินดังกล่าวครบ และเมื่อจำเลยทั้งหมดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ครบแล้ว โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายนี้ให้จำเลยที่ 1 ต่อจากนั้นวันที่ 26 มกราคม 2519 จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่น ๆ ไม่สามารถจะชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ตามกำหนดเวลา จึงได้ขอร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แทน เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ครบแล้วจำเลยที่ 1 ตกลงสละสิทธิในทรัพย์สินตลอดจนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ทั้งหมดให้จำเลยที่ 3 ต่อไป ในวันที่ 26 มกราคม 2519 นั่นเอง จำเลยที่ 3 ก็ได้นำเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความงวดที่ 1 และค่าเสียหายมาวางศาลพื่อชำระให้โจทก์เป็นเงิน 1,200,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้ว ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2519 จำเลยที่ 3 ก็ได้นำเงินงวดที่ 2 มาวางศาลเพื่อชำระหนี้เป็นเงิน 1,000,000 บาท และโจทก์ก็ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วเช่นกัน หลังจากนั้นวันที่ 13 กันยายน 2519 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า วันที่ 10 กันยายน 2519 จำเลยได้นำเช็คสั่งจ่ายเงิน 7,589,000 บาท ไปมอบให้ทนายโจทก์เพื่อชำระหนี้งวดที่ 3 แต่ทนายโจทก์ไม่ยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3, 871 และ 887 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลศรีษะจรเข้น้อย อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ และไม่อาจโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยได้ เพราะโจทก์เอาที่ดินดังกล่าวไปให้คนอื่นเช่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ยื่นคำแถลงว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา

ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งห้าตกลงกันใหม่ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 21 กันยายน 2519 มีใจความว่า จำเลยที่ 3จะชำระเงิน 7,633,000 บาท ให้โจทก์ภายในวันที่ 28 กันยายน 2519 โดยนำมาวางที่ศาล โจทก์จะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3072 และ เลขที่ 8304 ตำบลพญาไท (ประแจจีน) เขตพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว และที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลจรเข้น้อยอำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ โฉนดเลขที่ 871 ตำบลศรีษะจรเข้อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ โฉนดเลขที่ 887 (หัวจรเข้)จรเข้ใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ ให้จำเลยที่ 3 และหลังจากโจทก์ได้รับเช็คดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะส่งมอบโรงภาพยนตร์ พร้อมอุปกรณ์และที่ดินซึ่งโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่แก่จำเลยที่ 3 ด้วย ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่ชำระเงินภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ยอมให้โจทก์บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 11 กันยายน 2518 ต่อมาวันที่ 28 และ 29 กันยายน 2519 จำเลยที่ 3ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่ามีพฤติการณ์พิเศษโดยจำเลยที่ 3 ถูกกลั่นแกล้งจึงขอขยายเวลาวางเงินงวดที่ 3 ภายในกำหนด 7 วัน แต่ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุจะขยายเวลาให้จำเลยที่ 3 ได้ให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 3 จึงได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาในชั้นบังคับคดีนี้

ศาลฎีกาได้พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยโดยตลอดแล้วเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 11 กันยายน 2518 และบันทึกข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 21 กันยายน 2519ซึ่งเป็นข้อตกลงใหม่ เป็นสัญญาต่างตอบแทนเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้า ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369บัญญัติว่า “ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ฯลฯ” ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ก็ปรากฏอยู่ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ร้องขอให้ชำระหนี้แทนได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ตรงตามกำหนดเวลาไปแล้ว 2 งวดรวมเป็นเงินถึง 2,200,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้า ดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 21 กันยายน 2519จำเลยที่ 3 จึงยังมีหน้าที่ต้องชำระเงินงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย เป็นเงิน7,633,000 บาท โดยออกเป็นเช็คให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 28 กันยายน 2519ตามบันทึกข้อตกลงใหม่ดังกล่าวไม่ได้มีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องโอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ 3 เมื่อใด มีแต่ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งก่อสร้างบนที่ดินพร้อมกับอุปกรณ์เกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ให้จำเลยที่ 3 ภายใน 6 เดือนนับแต่วันนั้นดังนั้นหากจำเลยที่ 3 นำเช็คตามจำนวนที่ค้างอยู่มาวางศาล โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและข้อตกลงที่ได้ทำไว้ต่อหน้าศาลเป็นการตอบแทนในคราวเดียวกัน โดยปลอดภาระติดพันด้วย และจำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินตามบันทึกข้อตกลงแทนโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้เคยอุทธรณ์ให้ขยายระยะเวลาวางเงินงวดที่ 3 ออกไปอีก 7 วัน ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ก็ได้ความว่าวันที่ 28 กันยายน 2519 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 จะนำเงินมาวางต่อศาลเพื่อชำระงวดที่ 3 ให้โจทก์นั้นจำเลยที่ 3 มีเงินอยู่พร้อมแล้ว ที่จำเลยที่ 3 ไม่วางเงินงวดที่ 3 ต่อศาลเพราะก่อนวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาวางเงินงวดที่ 3 ออกไปเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้นำเงินงวดที่ 3 มาชำระให้โจทก์และในวันที่ 28 กันยายน 2519 นั้นเองจำเลยที่ 1 ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ไต่สวนพยานแล้วสั่งให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียววางเงินงวดที่ 3 ให้โจทก์ และให้โจทก์โอนทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ถ้าจำเลยที่ 3 วางเงินงวดที่ 3 ให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจจะได้รับโอนทรัพย์สินจากโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ก็จะต้องดำเนินคดีและใช้วิธีอายัดไม่ให้โจทก์โอนให้จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ย่อมจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดที่ 3 ให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันฟังคำสั่งและในคำสั่งศาลอุทธรณ์ 2422/2520ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า ส่วนเรื่องการบังคับคดีจะพึงดำเนินการประการใดนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาและคำสั่งเช่นนั้น ก็โดยมุ่งหมายว่าการที่จำเลยที่ 3 จะวางเช็คจำนวนเงิน 7,633,000 บาทต่อศาล เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์นั้นศาลชั้นต้นจะต้องออกคำสั่งที่เป็นหลักประกันเกี่ยวกับการที่โจทก์จะโอนที่ดินและทรัพย์สินต่าง ๆ ที่พิพาทตอบแทนให้จำเลยที่ 3 เสียก่อนแต่แล้วเมื่อจำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คมาแสดงต่อศาลจำนวนเงิน 9,668,000บาท สั่งจ่ายให้โจทก์ และแถลงว่าถ้าโจทก์จะรับไป จำเลยที่ 3 ก็ยินดีให้โจทก์แต่โจทก์จะต้องส่งมอบโฉนดต่าง ๆ ตามสัญญายอมให้จำเลยที่ 3 ในวันที่โจทก์แถลง และจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องที่จะวางเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 7 วัน ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แถลงคัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นก็ยังไม่เคยออกคำสั่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนเลย ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่า ศาลไม่จำต้องกำหนดวิธีปฏิบัติหรือกำหนดวิธีเกี่ยวกับการบังคับคดีหรือกำหนดวันที่จำเลยที่ 3 มีสิทธิวางเงินแต่อย่างใด เพราะการบังคับคดีจะเป็นประการใดนั้น มีสัญญาประนีประนอมยอมความ รายงานกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาชัดแจ้งอยู่แล้ว จึงยกคำร้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 3 ยังไม่ผิดนัด จำเลยที่ 1 ก็จะฎีกาให้ยกเอาสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2518 ขึ้นมาบังคับต่อไปหาได้ไม่ ฎีกาจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดที่ 3 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 11 กันยายน 2518และตามบันทึกข้อตกลงใหม่ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 21กันยายน 2519 โดยให้นำแคชเชียร์เช็คมาวางศาลเพื่อชำระให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา และให้โจทก์โอนที่ดินและทรัพย์สินตามสัญญาและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นการตอบแทนในคราวเดียวกันโดยปลอดภาระติดพัน ต่อเมื่อโจทก์ได้โอนที่ดินและทรัพย์สินตามสัญญาและบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้กับจำเลยที่ 3 แล้ว จึงให้โจทก์รับเช็คดังกล่าวไปจากศาลได้ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับกันไป

Share