คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 30,550 บาท แก่โจทก์เป็นค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 3,020 บาท จำเลยวางค่าธรรมเนียมและค่าทนายความต่อศาลแล้ว แม้โจทก์ยังไม่ได้รับไปจากศาลก็ถือว่าหนี้ค้างชำระไม่ถึง 30,000 บาท ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 254/2513ของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดให้ชำระเงิน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 27,500 บาทพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 30,550 บาท (ที่ถูกรวม 30,520 บาท) โจทก์ส่งคำบังคับแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาทำการยักย้ายทรัพย์เพื่อให้พ้นอำนาจศาล ไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ และไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่แพ้คดีแพ่งดังกล่าวต่อศาลเป็นเงินรวม 3,020 บาท หนี้ที่เหลือมีจำนวนแน่นอนเพียง 27,500 บาท จึงฟ้องให้ล้มละลายไม่ได้ ฯลฯ

ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้ว โจทก์รับว่าจำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์มาวางศาลครั้งแรก 2,720 บาท ครั้งที่สอง 300 บาท แต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากศาล ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาล แม้โจทก์จะไม่มารับ ถือว่าจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์แล้ว หนี้จึงมีเพียง 27,500บาท การฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยต้องเป็นหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า 30,000 บาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 มาตรา 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยแพ้คดีได้นำไปชำระต่อศาลไว้แล้ว จะนำมารวมกับหนี้ตามคำพิพากษา ได้หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า จำเลยได้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 254/2513 ของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนนั้น ถือได้ว่าเป็นเงินที่ผู้แพ้คดีได้ชำระหนี้โดยการนำมาวางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งเป็นจำนวนเงิน 2,720 บาท เมื่อหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวน27,500 บาท จึงจะนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยวางศาล 2,720 บาทที่ชำระแล้ว มารวมกับหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อฟ้องคดีนี้หาได้ไม่

พิพากษายืน

Share