คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5470/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นมรดกของอ.ออกจากกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับอ.แล้วโดน ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของอ. ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากไม่สามารถ แบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์มรดกดังนี้โดยเนื้อแท้แห่งการบังคับคดีในเบื้องต้นเป็นเรื่องบังคับให้จำเลยแบ่งแยกทรัพย์สินในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันแล้วจัดการโอนให้แก่โจทก์เท่านั้น หาได้มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ ผู้ร้องจึงร้องขอกันส่วนโดยอ้างว่า ผู้ร้องเป็นทายาทของอ. มีสิทธิรับมรดกร่วมกับโจทก์คนละครึ่งหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตราจองเลขที่ 275 เลขที่430 ที่ดินโฉนดเลขที่ 8288 แบ่งทรัพย์บ้านชายทะเล 2 หลังเลขที่ 51 หมู่ที่ 3 และบ้านไม่มีเลขที่หลังตึกแถวเลขที่ 35 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และแบ่งทรัพย์ตึกแถวเลขที่ 35 หมู่ 2เฉพาะส่วนของนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์ เจ้ามรดกซึ่งมีอยู่ 1 ใน 8 ให้แก่โจทก์อีกด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลย หากจำเลยไม่สามารถแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้เพราะสภาพไม่เปิดช่องให้ทำได้ หรือเพราะเหตุสุดวิสัยให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นเงิน 580,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาโจทก์ดำเนินการให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์ และเป็นทายาทคนหนึ่งที่มีสิทธิจะได้รับมรดกของนายเอี๋ยนร่วมกับโจทก์ตามกฎหมายคนละครึ่งผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกแก่โจทก์ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรังวัดแยกทรัพย์สินที่ต้องแบ่งให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาจำนวนครึ่งหนึ่งแก่ผู้ร้อง หากโจทก์และจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์และจำเลย หากไม่สามารถแบ่งแยกโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกดังกล่าวได้ เพราะสภาพไม่เปิดช่องให้ทำได้หรือเพราะเหตุสุดวิสัยให้ใช้ราคาเป็นเงิน 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องเป็นการอ้างว่าผู้ร้องมีสิทธิในที่ดินชอบที่จะดำเนินคดีต่างหาก ทั้งการบังคับคดีนี้โจทก์บังคับให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษามิใช่การบังคับคดีเพื่อนำทรัพย์มรดกมาขายทอดตลาดอันผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ได้ ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าผู้ร้องจะร้องขอกันส่วนในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบทรัพย์มรดกของนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์ ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท ส่วนจำเลยแม้จะเป็นทายาทของนายเอี๋ยนด้วย แต่จำเลยก็ถูกกำจัดมิให้รับมรดก คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษาให้จำเลยส่งมอบทรัพย์มรดกของนายเอี๋ยนให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากก่อนถึงแก่กรรมนายเอี๋ยนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินร่วมกับจำเลย เมื่อนายเอี๋ยนถึงแก่กรรมทรัพย์มรดกของนายเอี๋ยนจึงรวมอยู่กับทรัพย์สินของจำเลยในฐานะกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาคดีนี้จึงพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นมรดกของนายเอี๋ยนออกจากกรรมสิทธิ์รวมแล้วโอนให้แก่โจทก์ถ้าจำเลยปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากไม่สามารถแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์มรดกเป็นเงิน 580,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามคำขอของโจทก์ ดังนี้โดยเนื้อแท้แห่งการบังคับคดีในเบื้องต้น จึงเป็นเรื่องบังคับให้จำเลยแบ่งแยกทรัพย์สินในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันแล้วจัดการโอนให้แก่โจทก์เท่านั้น หาได้มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยตามความในมาตรา 287แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่ประการใด ไม่ ผู้ร้องจึงร้องขอกันส่วนโดยอาศัยหลักกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share