คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1705/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยนำแบบพิมพ์ใบคำขอถอนเงินของธนาคารมากรอกข้อความพร้อมกับลงลายมือชื่อปลอมของ ก. ในช่องผู้ขอถอนเงินและช่องผู้รับเงิน แล้วนำไปยื่นต่อพนักงานของธนาคาร ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นใบคำขอถอนเงินที่แท้จริงจึงจ่ายเงินให้จำเลยไปใบคำขอถอนเงินจึงเป็นหลักฐานแสดงว่า ก. ได้ขอถอนบัญชีของตน ย่อมเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน และวันที่ 9 พฤศจิกายน2542 เวลากลางวัน จำเลยปลอมใบคำขอถอนเงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)สาขาคลองตันประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 727-2-23280-0 ของนางสาวกชกรบุญมาตุ่น จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยนำแบบพิมพ์ใบคำขอถอนเงินมาทำเครื่องหมายขีดขวางที่ช่องประเภทบัญชีออมทรัพย์ เขียนชื่อ “กชกร บุญมาตุ่น” ในช่องชื่อบัญชี เขียนข้อความ “คลองตัน” ในช่องสาขาเจ้าของบัญชีเขียนตัวเลข “727-2-23280-0” ในช่องเลขที่บัญชี ฉบับแรกเขียนจำนวนเงิน 50,000 บาทฉบับที่สอง เขียนจำนวนเงิน 100,000 บาท ในช่องจำนวนเงิน และลงลายมือชื่อปลอมของนางสาวกชกรในช่องผู้ขอถอนและในช่องผู้รับเงิน เพื่อให้พนักงานธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาคลองตัน รวมทั้งนางสาวลักคณา วรรณพัฒน์ และนางสาวนฤมลประเสริฐศรีสกุล หลงเชื่อว่าใบคำขอถอนเงินปลอมดังกล่าวเป็นใบคำขอถอนเงินที่แท้จริงของนางสาวกชกร ทั้งนี้ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวกชกรธนาคารและพนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองตัน รวมทั้งนางสาวลักคณาและนางสาวนฤมล แล้วจำเลยได้นำใบคำขอถอนเงินปลอมฉบับแรกไปใช้ยื่นต่อนางสาวลักคณา และฉบับที่สองไปใช้ยื่นต่อนางสาวลักคณา และฉบับที่สองไปยื่นต่อนางสาวนฤมล และพนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองตัน ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อถอนเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองตัน บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 727-2-23280-0 ของนางสาวกชกร จนนางสาวลักคณานางสาวนฤมลและพนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองตัน ผู้ที่เกี่ยวข้อง หลงเชื่อว่าเป็นคำขอถอนเงินที่แท้จริงของนางสาวกชกร จึงได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยจำนวน 50,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวกชกร ธนาคารและพนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)สาขาคลองตัน รวมทั้งนางสาวลักคณา และนางสาวนฤมล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 90, 265 และ 268 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265และ 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โดยจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 4 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ใบคำขอถอนเงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองตัน ที่จำเลยนำไปยื่นต่อธนาคารดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ ซึ่งทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้นำแบบพิมพ์ใบคำขอถอนเงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองตัน มาทำเครื่องหมายขีดขวางที่ช่องประเภทบัญชีออมทรัพย์ เขียนชื่อ กชกร บุญมาตุ่น ในช่องชื่อบัญชี เขียนข้อความระบุสาขา เลขที่บัญชี จำนวนเงินและลงลายมือชื่อปลอมของนางสาวกชกรในช่องผู้ขอถอนเงินและช่องผู้รับเงิน แล้วนำใบคำขอถอนเงินไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าวซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นใบคำขอถอนเงินที่แท้จริงจึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ดังนี้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่นางสาวกชกร ธนาคารและพนักงานของธนาคารรวมทั้งนางสาวลักคณาและนางสาวนฤมลแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้งสองฉบับ ไม่ใช่เป็นเพียงการปลอมเอกสารธรรมดาดังที่จำเลยฎีกา เพราะใบคำขอถอนเงินเป็นหลักฐานแสดงว่านางสาวกชกรได้ขอถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของตน ย่อมเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265และ ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี แม้จำเลยฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี นั้น หนักเกินไปศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share