คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5094/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2เข้าไปในห้องของโรงแรมกับผู้เสียหายและพร้อมที่จะให้ผู้เสียหายร่วมประเวณีเพื่อจะได้เงินตอบแทนแล้วแม้ผู้เสียหายจะได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่2หรือไม่ก็ตามจำเลยที่2ก็คิดว่าตนควรจะได้รับค่าร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย100บาทเต็มจำนวนเมื่อผู้เสียหายไม่ยอมจ่ายเงินให้ครบตามที่ตกลงและยังขู่ว่าจะนำตำรวจมาจับจำเลยที่2จึงได้ใช้ท่อน้ำประปาตีขาผู้เสียหายโดยผู้เสียหายกับจำเลยที่2ได้ทะเลาะวิวาทกันเรื่องเงินค่าร่วมประเวณีที่หน้าโรงเรียนจึงได้ทำร้ายกันที่จำเลยที่2ทวงเงินได้จากผู้เสียหายไป100บาทจึงไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายขู่เอาทรัพย์จากผู้เสียหายโดยมีเจตนาทุจริตเมื่อผู้เสียหายถูกจำเลยที่2ตีแล้วขณะกำลังยืนเจ็บอยู่วิ่งไปตามจำเลยที่1และที่3มาจำเลยที่1ขู่ว่าจะให้หรือไม่และชกผู้เสียหาย1ทีและจำเลยที่3พูดว่าให้เขาไปเถอะเงิน100บาทเท่านั้นผู้เสียหายจึงยอมให้เงินจำเลยที่3ไป100บาทเพื่อเอาไปให้จำเลยที่2เป็นเรื่องที่จำเลยที่1และที่3เข้ามาเกี่ยวข้องในภายหลังมิได้สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่2ในเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนเมื่อจำเลยที่2มิได้ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อขู่เข็ญให้ผู้เสียหายส่งเงินให้100บาทโดยมีเจตนาทุจริตแล้วจำเลยที่1และที่3ก็ไม่มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่2ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายจำเลยที่1และที่3คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา391

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 100 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 83 จำคุกคนละ 10 ปีลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 2 6 ปี 8 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 100 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ลงโทษจำคุกคนละ 7 วันจำเลยทั้งสองถูกคุมขังมาพอแก่โทษแล้วให้ปล่อยตัวไป คำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 100 บาท แก่ผู้เสียหายให้ยกนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ผู้เสียหายหรือไม่ผู้เสียหายเบิกความว่าขณะอยู่ในห้องจำเลยที่ 2 ถอดเสื้อผ้านอนรออยู่บนเตียงแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ได้ร่วมประเวณีด้วยจำเลยที่ 3 พูดทวงเงินค่าร่วมประเวณี 100 บาท จากผู้เสียหายผู้เสียหายจะให้เพียงครึ่งเดียว 50 บาท จำเลยที่ 2 ไม่พอใจคว้าเอาเสื้อของผู้เสียหายวิ่งออกมานอกห้อง ผู้เสียหายวิ่งไล่ตามจำเลยที่ 2 จึงเอาท่อเหล็กตีขาผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่าผู้เสียหายได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 แล้วไม่ยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ตามที่ตกลงกัน จำเลยที่ 2 สวมเสื้อผ้าร้องไห้ออกมาบอกเพื่อน 2 คน ที่อยู่ข้างนอก ขอให้เพื่อนไปช่วยทวงเงินให้ ผู้เสียหายไม่ยอมจ่ายจำเลยที่ 2 โมโหจึงคว้าเสื้อของผู้เสียหายวิ่งออกมาหน้าโรงแรม ผู้เสียหายวิ่งไล่ตามจะเอาเสื้อคืน และจะให้เงิน 70 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ยอม จะเอา 100 บาทผู้เสียหายขู่ว่าจะเอาตำรวจมาจับให้หมด จำเลยที่ 2 โมโหจึงคว้าท่อน้ำประปาพลาสติกตีเข่าผู้เสียหาย ตามคำเบิกความของทั้งสองฝ่ายดังกล่าว เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าไปในห้องกับผู้เสียหายและพร้อมที่จะให้ผู้เสียหายร่วมประเวณีแล้ว แม้ผู้เสียหายจะได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็น่าจะคิดว่าตนควรจะได้รับเงินค่าร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย 100 บาท เต็มจำนวนเมื่อผู้เสียหายไม่ยอมจ่ายเงินให้ครบตามที่ตกลงกัน และยังขู่ว่าจะนำตำรวจมาจับจำเลยที่ 2 จึงได้ใช้ท่อน้ำประปาตีขาผู้เสียหาย รูปคดีจึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายกับจำเลยที่ 2 ได้ทะเลาะวิวาทกันเรื่องเงินค่าร่วมประเวณีที่หน้าโรงแรมจึงได้ทำร้ายกัน ที่จำเลยที่ 2 ทวงเงินได้จากผู้เสียหายไป 100 บาทจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายขู่เอาทรัพย์จากผู้เสียหายโดยมีเจตนาทุจริต ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อถูกจำเลยที่ 2 ตีแล้ว ขณะกำลังยืนเจ็บอยู่จำเลยที่ 2 วิ่งไปตามจำเลยที่ 1 และที่ 3 มา จำเลยที่ 1 ขู่ว่ามึงจะให้หรือไม่ให้และได้ชกผู้เสียหายถูกที่ศีรษะ 1 ที และจำเลยที่ 3 พูดว่าให้เขาไปเถอะเงิน 100 บาท เท่านั้น ผู้เสียหายจึงยอมให้เงินจำเลยที่ 3 ไป 100 บาท เพื่อเอาไปให้จำเลยที่ 2แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปฏิเสธว่าเข้ามาห้ามไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหายเห็นว่า แม้จะรับฟังดังที่ผู้เสียหายเบิกความ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องในภายหลัง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 2 ในเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนเมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อขู่เข็ญให้ผู้เสียหายส่งเงินให้ 100 บาท โดยมีเจตนาทุจริตแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2ปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 3 เพียงแต่พูดกับผู้เสียหายดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share