แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์และสหภาพแรงงาน ฟ. ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ในเรื่องการใช้สิทธิปิดงานพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ตกลงกัน การที่ผู้แทนโจทก์ได้ยินยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ฟ. จำนวน 2 ข้อ ในการไกล่เกลี่ยในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 นั้น เป็นเพียงการสนองรับข้อเสนออันเป็นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ฟ. เพียงบางข้อเท่านั้น การยินยอมตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการเสนอข้อเรียกร้องใหม่แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้แทนสหภาพแรงงาน ฟ. ไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่เหลือต่อไปอีก ฉะนั้นการเจรจาตกลงกันในวันที่ 28 มีนาคม 2544 จึงสิ้นสุดโดยไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ผู้แทนโจทก์ก็ไม่ได้ไปเจรจาตามนัด จึงไม่มีการเจรจาตกลงกันในวันดังกล่าว การที่ผู้แทนสหภาพแรงงาน ฟ. ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงตามที่ผู้แทนโจทก์ได้ยินยอมตกลงไว้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 ในภายหลังนั้น ก็ไม่มีผลทำให้ข้อตกลงของฝ่ายโจทก์ซึ่งสิ้นผลไปแล้วกลับมามีผลผูกพันฝ่ายโจทก์ได้อีก ฉะนั้น จึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นข้อที่ตกลงกันไม่ได้ การใช้สิทธิแจ้งปิดงานงดจ้างของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 34 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ประเวศ ที่ 3/2544 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2544
จำเลยให้การว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ประเวศ ที่ 3/2544 ของจำเลยได้ระบุถึงข้อเท็จจริง การกระทำของโจทก์ที่ละเมิดต่อกฎหมาย และข้อกฎหมายครบถ้วนถูกต้องแล้ว เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2544 สหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ ซึ่งต่อมาได้มีการเจรจากันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงได้แจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบในวันที่ 23 มีนาคม 2544 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้เข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ยระหว่างวันที่ 26 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2544 ผู้แทนฝ่ายนายจ้างหรือโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งใช้สิทธิปิดงานตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2544 เวลา 7 นาฬิกาเป็นต้นไปในวันที่ 28 มีนาคม 2544 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ได้ตกลงปฏิบัติตามข้อเรียกร้องจำนวน 2 ข้อ ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและแบบคำขอจดทะเบียน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2544 แล้ว ข้อพิพาทแรงงานเป็นอันยุติลง การใช้สิทธิปิดงานในวันที่ 30 และวันที่ 31 มีนาคม 2544 ของโจทก์ จึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 19 และมาตรา 14 คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ประเวศ ที่ 3/2544 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2544
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การใช้สิทธิปิดงานในวันที่ 30 และวันที่ 31 มีนาคม 2544 ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าภายหลังจากโจทก์และสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้แล้ว พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้โจทก์และสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ตกลงกัน การไกล่เกลี่ยครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 และวันที่ 27 มีนาคม 2544 ไม่สามารถตกลงกันได้ตามสำเนาบันทึกการเจรจาเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 การไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 ผู้แทนของโจทก์ยินยอมตกลงกันตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ 2 ข้อคือ ข้อเรียกร้องข้อที่ 5 ที่ให้โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างทุกงวดให้แก่ลูกจ้างทุกคน และข้อเรียกร้องข้อสุดท้าย (ข้อที่ 7) โจทก์ยินยอมให้สภาพการจ้างอื่นที่มีอยู่แล้วให้คงสภาพเหมือนเดิม แต่ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ไม่ยินยอม พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปในวันที่ 29 มีนาคม 2544 และบันทึกการเจรจาครั้งที่ 3 ไว้ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10 ในการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ทำบันทึกข้อตกลงตามที่ผู้แทนโจทก์ตกลงยินยอมและให้ผู้แทนโจทก์ลงชื่อไว้ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ในวันที่ 28 มีนาคมดังกล่าว โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งปิดงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานกับสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ โดยขอปิดงานงดจ้างกรรมการและสมาชิกของสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเจรจาตกลงในข้อเรียกร้องกันได้ตามสำเนาหนังสือแจ้งปิดงานงดจ้างเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ผู้แทนฝ่ายโจทก์ไม่ได้ไปเจรจาตามนัด ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ จึงลงชื่อในบันทึกข้อตกลงตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งผู้แทนโจทก์ได้ลงชื่อไว้แล้ว จากนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวและคำขอจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งผู้แทนโจทก์ได้ลงชื่อไว้แล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 ไปดำเนินการจดทะเบียน เห็นว่า การที่ผู้แทนโจทก์ได้ยินยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ จำนวน 2 ข้อ ตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 นั้น เป็นเพียงการสนองรับข้อเสนออันเป็นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ เพียงบางข้อเท่านั้น การยินยอมตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการเสนอข้อเรียกร้องใหม่แต่เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่เหลือต่อไปอีก ฉะนั้นการเจรจาตกลงกันในวันที่ 28 มีนาคม 2544 จึงสิ้นสุดโดยที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ผู้แทนโจทก์ก็ไม่ได้ไปเจรจาตามนัดจึงไม่มีการเจรจาตกลงกันในวันดังกล่าว การที่ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์ – อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงตามที่ผู้แทนโจทก์ได้ยินยอมตกลงไว้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 ในภายหลังนั้น ก็ไม่มีผลทำให้ข้อตกลงของฝ่ายโจทก์ซึ่งสิ้นผลไปแล้วกลับมามีผลผูกพันฝ่ายโจทก์ได้อีก ฉะนั้นจึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นข้อที่ตกลงกันไม่ได้ การใช้สิทธิแจ้งปิดงานงดจ้างของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลย คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน