แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การครอบครองที่ดินโดยปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 อาจใช้ยันผู้เยาว์ได้ไม่ใช่การแสดงเจตนาตามมาตรา 131
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนนี้เป็นกรณีเกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันมา
ในสำนวนแรกที่จ่าสิบเอกหลา หรือวิรัช ผดุงวัย เป็นโจทก์นั้น โจทก์กล่าวฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่นาตามโฉนดที่ 3387ทุ่งบ้านบางมอญ ตำบลบางนา อำเภอมหาราช จังหวัดอยุธยา โดยโจทก์ได้รับจากมรดกนางเหลี่ยมมารดา 1 ใน 4 รับการยกให้จากบิดา 1 ใน 4 และรับซื้อจากนางพูนเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2494 อีก 1 ใน 2 การได้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวมาได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และโจทก์ได้ใช้สิทธิครอบครองตลอดมาใน พ.ศ. 2494 นี้ โจทก์ได้ให้นางจันเช่าทำ ครั้นระหว่างเดือน 5-6 นางจันเตรียมการจะลงมือทำนาแปลงนี้ ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ขัดขวางไม่ยอมให้นางจันเข้าทำนาของโจทก์ทางด้านตะวันออกเป็นเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ แล้วจำเลยได้บุกรุกเข้าไถทำที่นาของโจทก์ส่วนนี้เสียเอง ทั้งนี้ จำเลยไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่นาโจทก์ตามฟ้องและห้ามไม่ให้มาเกี่ยวข้องต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 768 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปพ้นที่นาโจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ว่า เดิมที่วิวาทนี้เป็นของนางพูน นายรื่นและโจทก์เป็นเจ้าของ ต่างคนต่างได้ครอบครองกันมา เมื่อ พ.ศ. 2478 นายย้อยผู้ปกครองนางพูน นางเลื่อมหรือเลี่ยม พร้อมด้วยนางพูนและนายเลี่ยมหรือเลื่อมได้ทำสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่นาวิวาทในโฉนดที่ 3387 เฉพาะส่วนมีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ทางด้านทิศเหนือติดด้านตะวันออกให้แก่นางวงษ์มารดาจำเลยที่ 2 ในราคา 520 บาท นางวงษ์ได้ชำระค่านาให้แก่นางพูนรับไปแล้ว การซื้อขายได้ทำเป็นหนังสือแต่มิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะขณะนั้นนางพูนและนายเลื่อมหรือเลี่ยมกำลังประกาศรับมรดกและขอใบแทนโฉนดโดยโฉนดเดิมถูกไฟไหม้ นางพูนนายเลื่อมหรือเลี่ยมและนายน้อยได้มอบที่ดินตามสัญญาให้นางวงษ์เข้าปกครองเป็นเจ้าของทำประโยชน์มาด้วยความสงบและเปิดเผยตั้งแต่วันทำสัญญาจนนางวงษ์วายชนม์ไป โจทก์หรือบุคคลอื่นใดมิได้มาเกี่ยวข้องส่วนของนางวงษ์เลย เมื่อนางวงษ์วายชนม์แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ได้รับมรดกปกครองอย่างเจ้าของด้วยความสงบและเปิดเผยสืบต่อมา รวมเวลาที่นางวงษ์และจำเลยที่ 2 ปกครองมาจนบัดนี้เกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินวิวาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์แต่จำเลยที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้อยู่ก่อนแล้วตามกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2489 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องนางพูนขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินรายวิวาท และขอห้ามมิให้นางพูนมาเกี่ยวข้อง แต่คดีนั้นถูกศาลจำหน่ายเสียในระหว่างทำแผนที่วิวาทต่อมาจำเลยที่ 2 จะฟ้องนางพูนอีก จึงไปตรวจหลักฐานที่หอทะเบียนที่ดินอยุธยาปรากฏว่านางพูนได้สมคบคิดการฉ้อฉลยักย้ายถ่ายเททรัพย์รายวิวาทให้แก่โจทก์ โดยทำการโอนขายที่ดินส่วนของนางพูนรวมทั้งส่วนของจำเลยที่ 2ด้วยให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2494 ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่สุจริต ทั้งนี้ โดยโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินรายวิวาทเป็นของนางวงษ์และจำเลยที่ 2ได้ปกครองมาโดยนางพูนหรือโจทก์มิได้เกี่ยวข้องเลย ทำให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบจำเลยทั้ง 2 มิได้บุกรุกที่ของโจทก์ จำเลยทั้ง 2 เข้าทำประโยชน์ในที่วิวาทเป็นปกติเสมอมาเพราะจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 ผู้ภริยา จำเลยทั้ง 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อย่างใด หากจำเลยจะต้องรับผิด โจทก์ตั้งข้อเรียกร้องเกินสมควรเพราะความจริงควรจะเป็นเพียง 200-300 บาทเท่านั้น
สำนวนหลังนางสงวน คุณชนก กลับเป็นโจทก์ฟ้องจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชกับนางพูนเป็นจำเลย หาว่าเมื่อ พ.ศ. 2478 นายย้อยซึ่งเป็นผู้ปกครองนางพูนและนายเลื่อมพร้อมด้วยนางพูนและนายเลื่อมได้ทำสัญญาขายที่นาเฉพาะเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ในโฉนดเลขที่ 3378 ให้แก่นางวงษ์มารดาโจทก์ในราคา 520 บาท หนังสือสัญญาซื้อขายจะอ้างมาประกอบการพิจารณา การซื้อขายมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเพราะขณะนั้นนางพูนกับนายเลื่อมกำลังประกาศรับมรดกและขอใบแทนโฉนดอยู่โดยโฉนดเดิมถูกไฟไหม้ แต่ผู้ขายได้มอบที่ดินให้นางวงษ์เป็นเจ้าของตลอดมาจนนางวงษ์วายชนม์ โจทก์เป็นผู้รับมรดกนางวงษ์ได้ครอบครองติดต่อมาโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2489 โจทก์เคยฟ้องนางพูนต่อศาลขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ครั้งหนึ่งแล้วแต่คดีนั้นถูกศาลสั่งจำหน่ายเสียในระหว่างทำแผนที่วิวาท บัดนี้ปรากฏว่านางพูนจำเลยได้โอนขายที่ดินของนางพูนรวมทั้งส่วนที่เป็นของโจทก์ด้วยให้แก่จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเมื่อเดือนเมษายน 2494 ทั้งนี้ได้กระทำไปโดยไม่สุจริตเพราะจำเลยทั้ง 2 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่รายนี้ จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าที่ดินเฉพาะเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ในโฉนดที่ 3387 ตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขอให้ทำลายนิติกรรมการโอนขายที่ดินของจำเลยเฉพาะส่วนของโจทก์เสีย และสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในที่ดินส่วนนี้ ห้ามจำเลยและบริวารอย่าให้เกี่ยวข้องกับที่ของโจทก์ต่อไป
นางพูนจำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 3387 นี้ เดิมมีชื่อนายดมบิดานางพูนถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่กับนางเหลี่ยม นายดมตายแล้วที่ดินจึงตกได้แก่นางพูนจำเลย เวลานั้นนางพูนยังเป็นผู้เยาว์อายุ 12 ปีเท่านั้น นางพูนจึงต้องอาศัยอยู่กับผู้มีชื่อหลายแห่งรวมทั้งนายวอน เฉลยทัศน์ด้วย นายวอนได้แกล้งฟ้องนางพูนโดยหาว่านางก้านมารดานางพูนเป็นหนี้อยู่ 444 บาท โดยเรียกให้นายเยื้อนนายบุญ นายก๊อกเป็นจำเลยแทนนางพูน แล้วทำยอมกันภายหลังนายก๊อกบังคับให้นางพูนไปกู้เงินผู้มีชื่อ (ไม่ใช่นางวงษ์มารดาโจทก์)มาใช้หนี้นายวอน ได้นำเงินมาวางศาลใช้หนี้นายวอนเสร็จไปแล้ว ต่อมาเจ้าหนี้เร่งรัดจะเอาเงินที่กู้มานี้ นายวอนจึงสมคบกับนายย้อยให้นายย้อยมาประกาศรับมรดกที่ดินลงชื่อนางพูนเป็นเจ้าของแล้วนายย้อยไปตกลงขายที่ดินของนางพูนในโฉนดนี้ให้แก่นางวงษ์ 7 ไร่ ราคา 520 บาท แล้วจัดการจะให้นางพูนโอนใส่ชื่อนางวงษ์ในโฉนด ณ หอทะเบียน แต่ต้องขัดข้องเพราะนางพูนยังเป็นผู้เยาว์ เมื่อไม่สำเร็จแล้วนายย้อยจึงมาร้องต่อศาลขอขายที่ดิน 7 ไร่นี้ แทนนางพูนและขอแยกโฉนดด้วย ศาลคงอนุญาตให้แบ่งแยกเท่านั้น ไม่อนุญาตให้โอนขายแก่นางวงษ์ เมื่อเป็นเช่นนี้นายวอน นายย้อยจึงให้นางวงษ์เข้าทำนาต่างดอกเบี้ยไปพลางก่อนเพราะนางวงษ์ได้ออกเงินชำระหนี้แทนไปแล้ว ความจริงยังหาได้มีการซื้อขายที่ดินกันไม่ หากจะมีสัญญาซื้อขายกันดังฟ้อง สัญญานั้นก็เป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนและไม่ผูกพันนางพูนเพราะนายย้อยไม่ได้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนางพูนที่จะเอาไปขายได้ นางวงษ์หรือโจทก์ได้ทำนาส่วนนี้มาบ้างก็ในฐานต่างดอกเบี้ย นายย้อยไม่มีสิทธิ์อย่างใดที่จะเอานาของนางพูนไปให้นางวงษ์หรือโจทก์ปกครองเป็นปรปักษ์กับนางพูน และโจทก์กับนางวงษ์ก็จะครอบครองเป็นปรปักษ์ต่อนางพูน ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 131 สิทธิที่จะแสดงเป็นปรปักษ์ต่อนางพูนจะต้องเริ่มเมื่อนางพูนบรรลุนิติภาวะนางพูนเพิ่งบรรลุนิติภาวะมาได้ 7 ปี 6 เดือนเท่านั้น การครอบครองของโจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2494 นางพูนได้โอนขายที่ดินให้แก่จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชไปแล้วโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริตนางพูนจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่แปลงนี้อีก อนึ่ง จำเลยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้ส่งสำเนาสัญญาซื้อขายที่ว่ามีมาพร้อมกับฟ้อง เป็นการเอาเปรียบจำเลย ทำให้จำเลยต่อสู้คดีได้ยากหรืออาจหลงข้อต่อสู้ ศาลจึงไม่ควรรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชให้การต่อสู้ว่า ได้รับซื้อที่ดินไว้จากนางพูนโดยเรียกค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนการซื้อขายแล้วจึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย หากโจทก์จะครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์มาเกิน 10 ปีจริงโจทก์จะใช้ยันจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชไม่ได้เพราะโจทก์มิได้จดทะเบียนสิทธิการได้มานี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิกถอนการโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299-1300 และฎีกาที่ 47/2486
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ได้มีการซื้อขายนากันจริงดังนางสงวนและนายลับอ้าง มิใช่นางพูนมอบนาให้ทำต่างดอกเบี้ยเมื่อนางสงวนและนายลับเข้าครอบครองนามาโดยถือตนเป็นเจ้าของด้วยความสงบและเปิดเผยเป็นเวลาติดต่อกัน 16-17 ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 การซื้อขายระหว่างนางพูนกับจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชไม่เป็นไปโดยสุจริต จึงเป็นการมิชอบ จึงพิพากษาว่า ที่พิพาท 7 ไร่เฉพาะส่วนในโฉนดเลขที่ 3387 เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสงวน คุณชนกโดยชอบธรรมด้วยกฎหมาย ให้ทำลายนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชกับนางพูนอย่าให้จำเลยและบริวารมาเกี่ยวข้องในที่พิพาทต่อไป ให้ยกฟ้องจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเสีย ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมกับค่าทนาย 500 บาท แก่นางสงวน นายลับด้วย
จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชและนางพูนอุทธรณ์ทั้ง 2 สำนวน
ศาลอุทธรณ์คงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้นางพูนและจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเสียค่าทนาย 100 บาทแทนนายลับ นางสงวนด้วย
จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัช และนางพูนฎีกาต่อมา
ศาลฎีกานั่งฟังคำแถลงการณ์ ด้วยวาจาของทนายฝ่ายจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชและนางพูนและได้ประชุมปรึกษาคดีแล้ว ทางพิจารณาคงได้ความว่า ที่ดินโฉนดที่ 3387 ที่ฟ้องกันนี้เดิมมีชื่อนายดมพี่นางเหลี่ยมน้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายดมเป็นบิดานางพูน ส่วนนางเหลี่ยมเป็นมารดาจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัช นายดม นางเหลี่ยมวายชนม์ไปหมดแล้วและโฉนดคงมีชื่อนางพูนกับจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินครึ่งหนึ่งอันเป็นของนางพูนนั้นอยู่ตอนเหนือ ส่วนครึ่งหนึ่งของจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชอยู่ตอนใต้ ในที่ดินตอนที่เป็นของนางพูนนั้นทางด้านเหนือติดตะวันออกซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ นางวงษ์มารดานางสงวนได้ครอบครองมา และเมื่อนางวงษ์วายชนม์นางสงวนก็รับมรดกครอบครองต่อมาอีกจนบัดนี้ รวมเวลาที่นางวงษ์และนางสงวนครอบครองที่ตรงนี้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
ปัญหามีว่านางวงษ์เข้าครอบครองที่นี้ได้โดยอย่างไร ฝ่ายนางสงวนนำสืบว่า เมื่อขณะบิดามารดานางพูนตายนั้น นางพูนอายุประมาณ 13 ปี นางพูนมีพี่ชายคนหนึ่งชื่อนายเลี่ยมอายุ 27 ปี ทั้ง 2 คนนี้ตกอยู่ในความปกครองของนายย้อยผู้เป็นลุง เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2478 นายย้อยผู้ปกครองพร้อมด้วยนายเลี่ยมนางพูนได้ทำสัญญาขายที่ที่เป็นความกันนี้ให้แก่นางวงษ์มารดานางสงวนเป็นราคา 520 บาท ไม่ได้ไปทำการโอนโฉนดเพราะโฉนดไฟไหม้และกำลังขอใบแทนอยู่ สัญญากันว่าขอใบแทนได้เมื่อใดจึงจะไปหักโอนกัน ผู้ขายได้มอบที่ดินนี้ให้นางวงษ์เข้าครอบครองนางวงษ์ครอบครองทำกินมา 5 ปีก็ตาย นางสงวนและนายลับสามีได้รับมรดกปกครองทำกินต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2489 นางสงวนได้ฟ้องนางพูนต่อศาลขอให้แสดงกรรมสิทธิ์และแก้ทะเบียนโฉนดให้นางสงวนแต่ศาลสั่งจำหน่ายคดีเสีย เพราะคู่ความไม่นำเจ้าพนักงานไปทำแผนที่วิวาท นางสงวนและนายลับคงครอบครองที่ดินต่อมาจน พ.ศ. 2494 ปรากฏว่านางพูนได้โอนขายที่ดินของตนรวมทั้งส่วนที่นางสงวนครอบครองอยู่นั้นด้วยให้แก่จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัช นางสงวนจึงมาฟ้องนางพูนและจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชในคดีนี้
นางพูนนำสืบว่าตนมิได้ขายที่ดินให้แก่นางวงษ์ เป็นแต่เมื่อนางพูนอยู่กับนายย้อยในปีที่ 3 นายย้อยได้บอกให้นางพูนไปทำสัญญากู้เงินนางวงษ์ 520 บาท เป็นการรับโอนหนี้ของนายดมแล้วให้นารายนี้แก่นางวงษ์ทำต่างดอกเบี้ย 7 ไร่ หนี้ของนายดมนี้ไม่มีหลักฐานอะไรไว้ต่อกัน นางพูนเองไม่ทราบว่าจะต้องรับผิดหรือไม่ นางวงษ์ตายแล้วนางพูนเคยไปขอไถ่ที่นาจากนางสงวนรวมหลายคราว แต่นางสงวนไม่ให้ไถ่บอกว่าได้ขายให้นางวงษ์แล้ว นางพูนไม่ได้ฟ้องร้องนางสงวนเพราะไม่มีเงินและไม่มีใครจะจัดการฟ้องร้องแทน
ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ฝ่ายนางสงวนมีสัญญาซื้อขายลงวันที่ 15 กันยายน 2478 เป็นพยานและมีนายทองอยู่หรืออยู่ ฉัตรแก้ว ซึ่งเป็นกำนันเก่าเบิกความประกอบว่า นายย้อยนายเลี่ยม นางพูนได้ทำสัญญาขายนาให้นางวงษ์ ดังปรากฏตามสัญญาซื้อขายฉบับนี้จริง และได้มอบนาให้นางวงษ์เข้าครอบครองตั้งแต่นั้นมา หลักฐานพยานของนางสงวนน่าเชื่อฟังส่วนพยานนางพูนนั้นแม้คำนางพูนเองก็ไม่อยู่กับร่องรอย คือเมื่อนางพูนให้การสู้คดีนางสงวน นางพูนว่านายย้อยได้นำที่ดินรายนี้ไปขายให้นางวงษ์ในราคา 520 บาทเพื่อเอาเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งนายก๊อกได้บังคับให้นางพูนกู้มาเพื่อชำระให้นายวอนตามที่ได้ทำยอมจะชำระให้นายวอนไว้ที่ศาลแล้วต่อมานายวอนได้มาจัดการจะให้นางพูนโอนใส่ชื่อนางวงษ์ในโฉนดแต่ขัดข้องเพราะนางพูนยังเป็นผู้เยาว์ นายวอนจึงมาร้องต่อศาลขอแบ่งแยกที่ดินและขอขายที่ 7 ไร่นี้แทนนางพูน ศาลอนุญาตให้แบ่งแยกได้แต่ไม่ให้ขาย เมื่อเกิดขัดข้องเช่นนี้นายย้อยจึงมอบที่ดินให้นายวงษ์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยไปพลางก่อน เพราะนางวงษ์ได้ออกเงินชำระหนี้แทนนางพูนไปแล้ว นางวงษ์จึงได้ทำนาของนางพูนมา แต่ครั้นนางพูนสาบานตัวเบิกความเป็นพยานตนเองนางพูนกลับให้การว่านายย้อยให้ไปทำสัญญากู้เงินนางวงษ์มา 520 บาทเป็นการรับโอนหนี้ของนายดมแล้วให้นาแก่นางวงษ์ไปทำต่างดอกเบี้ย หนี้ของนายดมนั้นก็ไม่มีหลักฐานอะไรต่อกัน ดังนี้จะให้เชื่ออย่างไรคำพยานฝ่ายนางพูนจึงมีน้ำหนักสู้พยานฝ่ายนางสงวนไม่ได้ จึงต้องฟังว่านางพูนได้ทำสัญญาขายที่นา 7 ไร่นี้ให้นางวงษ์และมอบนาให้นางวงษ์ครอบครองตั้งแต่นั้นมา การซื้อขายนี้แม้จะมิได้ทำการโอนโฉนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ดี เมื่อนางวงษ์และนางสงวนได้ครอบครองที่มาอย่างเป็นเจ้าของโดยความสงบและเปิดเผยเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปีแล้ว นางวงษ์นางสงวนก็ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่นางพูนยกข้อต่อสู้ว่า การที่นางวงษ์และนางสงวนครอบครองที่นามานั้น จะถือว่าเป็นปรปักษ์ต่อนางพูนไม่ได้เพราะนางพูนยังเป็นผู้เยาว์ไม่อาจรับการแสดงเจตนาของนางวงษ์นางสงวนได้ดังห้ามไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 131 นั้น เห็นว่าข้อต่อสู้ของนางพูนฟังไม่ได้ เพราะการที่นางวงษ์นางสงวนครอบครองที่ดินของนางพูนมาอย่างเป็นเจ้าของโดยความสงบและเปิดเผยจนได้กรรมสิทธิ์นั้น เป็นเรื่องที่นางวงษ์นางสงวนได้สิทธิมาโดยอายุความ หาต้องมีการแสดงโดยเจตนาต่อนางพูนอย่างใดไม่ อีกข้อหนึ่งที่นางพูนตัดฟ้องว่าฟ้องนางสงวนเคลือบคลุมเพราะไม่ส่งสำเนาสัญญาซื้อขายมาพร้อมฟ้อง ทำให้นางพูนลำบากในการต่อสู้หรืออาจหลงข้อต่อสู้ได้นั้น ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์บรรยายความชัดเจนไม่เคลือบคลุมประการใด เพียงแต่ไม่ส่งสำเนาสัญญาซื้อขายมาพร้อมฟ้องไม่ทำให้ฟ้องกลายเป็นเคลือบคลุมไปได้ นางพูนเองมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์ส่งสัญญาซื้อขายมาให้นางพูนดูก่อนให้การก็ได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ การที่นางสงวนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนี้แต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานนั้น จะยกขึ้นต่อสู้จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชผู้ซึ่งได้ซื้อนารายนี้จากนางพูนและได้จดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วได้หรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเป็นบุตรนางเหลี่ยมนางพูนเป็นบุตรนายดมพี่ชายนางเหลี่ยม ดังนั้นจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชและนางพูนจึงเป็นญาติสนิทกัน ที่ดินตามโฉนดที่ 3387 นี้ จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเป็นเจ้าของอยู่กึ่งหนึ่ง และได้มอบให้บิดาของตนเป็นผู้จัดการดูแลแทนที่ดินที่นางพูนมอบให้นางวงษ์นางสงวนเข้าทำ 7 ไร่เศษนั้น นางวงษ์นางสงวนได้ทำมาทุก ๆ ปี ฉะนั้นจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชและบิดาย่อมต้องรู้ดีถึงการครอบครองของนางวงษ์นางสงวน การที่นางสงวนเคยฟ้องร้องนางพูนต่อศาลนั้น บิดาจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชก็ควรจะได้รู้ การที่จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชว่าตนรับซื้อที่ดินของนางพูนโดยไม่ได้สอบสวนอย่างไรเลยนั้น จึงเป็นเรื่องพิรุธไม่น่าเชื่อ อนึ่ง ที่จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชว่าตนได้เสียเงินค่าที่ดินให้ นางพูนไป 10,000 บาทเศษนั้น จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชก็มีแต่ตัวเองกับนางพูน และนายศิริสามีนางพูนเท่านั้นเป็นพยานให้ พยานอื่นที่รู้เห็นในการให้เงินไม่มีใครมาเป็นพยานเลย เอกสารการยืมก็ไม่มี จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนัก ศาลฎีกาจึงเห็นว่าการซื้อขายระหว่างนางพูนและจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเป็นไปโดยไม่สุจริต กรรมสิทธิ์ที่นางสงวนได้มาแม้มิได้จดทะเบียน ก็ยกขึ้นต่อสู้จ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชได้ ที่ศาลล่างพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชและนางพูนฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน (แต่เพื่อให้คำบังคับชัดเจนจึงให้เข้าใจว่า”ที่พิพาทที่นางสงวนได้กรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษานี้คือที่ดินภายในเส้นสีแดงของแผนที่วิวาทลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2494 ที่พนักงานศาลทำไว้ การทำลายนิติกรรมการโอนระหว่างนางพูนกับจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชนั้นก็ทำลายเฉพาะที่พิพาทที่กล่าวนี้”) ให้นางพูนและจ่าสิบเอกหลาหรือวิรัชเสียค่าทนายชั้นฎีกาแทนนางสงวนอีก 200 บาท